ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายโรงพยาบาลกำลังประสบปัญหา ‘ยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่’ หมดคลัง

แฟนเพจ สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์นี้ว่า “ไข้หวัดใหญ่ระบาด ยา oseltamivir หมดหลาย รพ. รอฟื้นมาตรการ DMHT ลุ้นเปิดเทอมผู้ป่วยลดลง”

สอดคล้องกับ แฟนเพจ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ที่โพสต์ไว้ก่อนหน้าว่า “โรงพยาบาลของคุณ ยังมี oseltamivir เหลือไหม ? (หลาย รพ.เกลี้ยงแล้ว)”

สำหรับ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ถือเป็นยาต้านไวรัส จัดเป็น ‘ยาควบคุมพิเศษ’ มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของ ‘เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่’ สายพันธุ์เอ (A) ซึ่งขณะนี้ยาดังกล่าว กำลังขาดแคลนในหลายโรงพยาบาล

แพทย์ระดับปฏิบัติการในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า ขณะนี้ที่โรงพยาบาลตัวเองเหลือเพียง 500 เม็ดสุดท้าย แม้ว่าจะยังพอมีใช้แต่ก็ใกล้หมดแล้ว และจากการพูดคุยกับเพื่อนโรงพยาบาลอื่น พบว่ายาเริ่มหมดตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

“ปีนี้โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดมากกว่าปีก่อนๆ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นมาก ส่งผลให้ต้องใช้ยาในจำนวนที่มากขึ้นตามไปด้วย” แพทย์รายนี้ระบุ

กองบรรณาธิการ “The Coverage” ต่อสายถึง รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เพื่ออัพเดทสถานการณ์ และได้รับคำยืนยันว่า โอเซลทามิเวียร์ ขาดแคลนจริง

“ทราบมาว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหาในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตยา Oseltamivir จึงทำให้เกิดการขาดแคลน แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล ภก.กิตติ ระบุ

นายกสภาเภสัชกรรม บอกว่า โรงพยาบาลต่างๆ ยังสามารถใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ทดแทนยา Oseltamivir ได้ก่อน ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน

“ถ้าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้มีอาการหนักมาก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส” ภก.กิตติ ระบุ

ภก.กิตติ บอกอีกว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อยู่ระหว่างกระบวนการจัดหายา Oseltamivir เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วย ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลน

สำหรับ ‘ไข้หวัดใหญ่’ เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า สามารถจำแนก Influenza Virus ออกเป็น 4 ชนิด 

ได้แก่ ชนิดเอ บี ซี และดี 

สำหรับชนิดเอ และบี มักก่อให้เกิดไข้หวัดตามฤดูกาล ผู้ป่วยอาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดทั่วไป (Common cold)  ส่วนใหญ่สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ 

ทว่า บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิด ‘ปอดอักเสบ’ และ ‘เสียชีวิต’ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงจะพิจารณาให้ยาฆ่าไวรัส (Antivirals) ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ทำไห้ลดระยะเวลาอาการเจ็บป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น

สำหรับความจำเป็นในการใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงสูงหรือมีความจำเป็นในการใช้

“ไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้ท่านสับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการแสดงเด่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ไอแห้ง มีน้ำมูกใส คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้สูง อ่อนเพลีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ทั้งนี้วิธีการรักษาส่วนใหญ่รักษาตามอาการเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก” นพ.จินดา กล่าว

แนวทางการป้องกันเบื้องต้นในช่วงนี้ คือหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด

ที่สำคัญก็คือ หน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และช่วยได้