ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World health Organization: WHO) ได้เผยแพร่แนวทางการยกระดับบุคลากรสุขภาพในการสนับสนุนบุคคลทั่วไปให้ดูแลตัวเอง เช่น การเข้าถึงการตรวจโรคเบื้องต้น การจัดการโรคและความพิการ การป้องกันโรค และการรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 

แนวทางนี้ถูกจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาส “วันดูแลตัวเอง” หรือ International Self-Care Day ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ก.ค. ของทุกปี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองในทุกวัน เพื่ีอป้องกันโรคและสร้างความเป็นอยู่ที่ดี 

ทั้งนี้ WHO ได้นิยามการดูแลตัวเองว่าเป็น ความสามารถของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชนในการการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และรับมือกับโรคและความพิการที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน 

"โครงการสุขภาพที่ส่งเสริมให้คนดูแลตัวเอง เป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ และสามารถขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าถึงบริการ

“เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนเข้าใจวิธีการดูแลตัวเอง และใช้เครื่องมือดูแลสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจการตั้งครรภ์ โควิด-19 หรือเชื้อเอชไอวี หรือความเข้าใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และการติดตามอาการโรคเรื้อรัง” พญ.ปาสกาล อัลโลเทย์ (Pascale Allotey) ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยและสุขภาวะทางเพศ WHO กล่าว

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า มีประชากรกว่า 3,600 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกที่ขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น การดูแลสุขภาพตนเองจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชากรมีสุขภาพดีในเงื่อนไขที่บริการสุขภาพยังไม่ครอบคลุมองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำทุกประเทศทำโครงการสุขภาพด้านนี้ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างอำนาจในการดูแลสุขภาพตนเอง มีทางเลือกด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น และเข้าถึงได้สะดวก

ตัวอย่างโครงการสุขภาพที่เป็นไปได้ ได้แก่ การทำให้ประชาชนเข้าถึงยาคุมกำเนิด การตรวจเชื่อโควิด-19 เอชไอวี และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจวัดความดันเลือด การทดสอบการตั้งครรภ์ เทคนิคจัดการความเครียด การลดการใช้สารเสพติด ลดความวิตกกังวล และอาการสุขภาพจิตอื่น ๆ 

ทั้งหมดนี้ จะเป็นการปูทางให้แต่ละประเทศเดินหน้าสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งยังสร้างความยั่งยืนให้ระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในภาวะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพหยุดชะงัก เพราะวิกฤตทางสุขภาพ

แนวทางส่งเสริมการดูแลตัวเองที่ WHO เสนอมี 3 ส่วน ได้แก่ 1. มาตรฐานด้านการดูแลตัวเอง 2. คู่มือความรู้สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ และ 3. หลักสูตรการดูแลตัวเองสำหรับการวางแผนงาน และฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ

ในส่วนของมาตรฐานด้านการดูแลตัวเอง ประกอบด้วย แนวทางปฏิบัติในทางคลินิก เช่น การมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง แนวทางตัดสินใจ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความร่วมมือ การปฏิบัติงานโดยยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และจริยธรรมการปฏิบัติงาน

"เราขอเชิญชวนนานาประเทศ สถาบันการศึกษา และผู้ปฏิบัติงาน ร่วมบูรณาการมาตรฐานนี้ในการให้การศึกษา อบรม และสนับสนุนบุคลากรด้านสุขภาพ ให้สามารถดูแลประชาชนด้วยบริการสุขภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง มีคุณภาพ และมาตรฐาน" จิม แคมป์เบล (Jim Campbell) ผู้อำนวยการฝ่ายแรงงานสุขภาพ WHO ระบุ

อ่านข้าวต้นฉบับ : https://www.who.int/news/item/24-07-2023-health-workers-have-a-critical-role-in-supporting-self-care