ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์สังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบอสตัน เขียนบทความชี้ "สหรัฐต้องเรียนรู้จากไทยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" สะท้อนความสำเร็จประเทศไทย ระบุผลปฏิรูประบบสุขภาพอย่างชาญฉลาด ช่วยประชาชนประเทศไม่ร่ำรวยเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพได้ พร้อมแนะ "สภาคองเกรส" ศึกษาแนวทาง จัดระบบสุขภาพให้คนสหรัฐฯ เข้าถึง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2561 เว็บไซต์ Theconversation.comได้เผยแพร่บทความเรื่อง "เมื่อสหรัฐฯ ต้องเรียนรู้จากไทยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" (What the US could learn from Thailand about health care coverage) เขียนโดย ผศ.ดร.โจเซฟ แฮร์ริส (Joseph Harris) อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2545 โดยขยายความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพของรัฐที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และบัตรสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมประชากรราว ร้อยละ 70 ไปยังประชากรทุกคน การขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ส่งผลให้คนไทยได้รับสิทธิการดูแลสุขภาพ จนมีผลทำให้อายุค่าเฉลี่ยยืนยาวขึ้น อัตราตายทารกและเด็กลดลง ลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลระหว่างเมืองและชนบท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินจากค่ารักษาพยาบาลลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า  

ผศ.ดร.แฮร์ริส ได้วิเคราะห์ถึงงบประมาณสาธารณสุข โดยไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 ของจีดีพี ที่ครอบคลุมการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่สหรัฐฯ สัดส่วนงบประมาณสาธารณสุขสูงเกือบร้อยละ 20 ของจีดีพี แต่ไทยกลับสามารถดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนประสบผลสำเร็จอย่างโดดเด่น สะท้อนให้เห็นมุมที่สหรัฐฯ ยังคงล้าหลังในแง่การปฏิรูประบบสุขภาพ แม้ว่าเราไม่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่สมบูรณ์ก็ตาม แต่จากการปฏิรูประบบสุขภาพได้ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในระบบลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เทียบกับสิทธิประโยชน์ที่นับวันจะเพิ่มขึ้น ทั้งไทยยังได้พัฒนาเครื่องมือด้านนโยบายเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาล โดยการประสานกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมผลิตยาสามัญเพื่อดูแลผู้ป่วยภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาสามัญภายใต้ความคุ้มครองขององค์การการค้าโลก (WTO)

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบอสตัน ท่านนี้ยังระบุถึงกลยุทธ์การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดบริการในระบบสุขภาพและทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน ด้วยการกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับบริการกับหน่วยบริการประจำใกล้บ้าน เพื่อกระจายการบริการผู้ป่วยนอก พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการตั้งค่าบริการผู้ป่วยนอกในรูปแบบงบเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในด้านการประสานการส่งต่อร่วมกับศูนย์สุขภาพชุมชนเพื่อบริการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าว ได้เปรียบเทียบการดำเนินหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และสถานการณ์สนับสนุนจากทั่วโลกที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ทุกอย่างดูจะดำเนินไปในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่ความพยายามในการคว่ำกฎหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Affordable Care Act (ACA) โดยพรรครีพับลิกัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ยังมีความพยายามยุติการให้ความคุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน รวมถึงร่นระยะเวลาลงทะเบียนผู้ป่วยให้เหลือเพียง 45 วัน ลดการประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน ซึ่ง ผศ.ดร.แฮร์ริส ได้แสดงความเห็นค้านและมองว่า สหรัฐฯ ควรคงบทบัญญัติกฎหมาย ACA ที่กำหนดให้ประชาชนต้องมีประกันสุขภาพและให้ความคุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน สร้างหรือขยายผู้ให้บริการประกันสุขภาพภาครัฐ เช่น เมดิแคร์ เพื่อแข่งขันด้านราคากับภาคเอกชน แก้ไขปัญหาความโปร่งใสด้านค่ารักษาในสถานพยาบาล ตลอดจนต่อรองกับบริษัทยาและโรงพยาบาลเพื่อหาทางลดค่ายาค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยหลายล้านคน

ในบทความดังกล่าวยังย้ำด้วยว่า การปฏิรูประบบสุขภาพอย่างชาญฉลาดของประเทศไทยนี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยได้พิสูจน์ความจริงในข้อที่ว่า แม้ไม่ได้ร่ำรวยติดอันดับโลกก็สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลและยาที่มีคุณภาพได้ การตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ทำให้การรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ และเคมีบำบัดไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ผู้กำหนดนโยบายไม่ว่าในประเทศใดก็สามารถปฏิรูประบบสุขภาพด้วยเครื่องมือที่ส่งเสริมการประหยัดรายจ่าย พร้อมยกระดับการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมไปพร้อมกัน  และในสหรัฐฯ ความพยายามเดินหน้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าย่อมหนีไม่พ้นความท้าทาย แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฎนี้ ชี้ว่าแกนนำในสภาคองเกรสควรศึกษาแนวทางจากประเทศอื่น รวมถึงประเทศไทยเพื่อทำให้เกิดระบบบริการรักษาพยาบาลที่ประชาชนเข้าถึงได้

"จากบทความที่เขียนขึ้นโดย อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบอสตัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พร้อมมองว่าสิ่งที่ประเทศไทยดำเนินอยู่ขณะนี้ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูประบบสุขภาพ และเป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศได้ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐก็ตาม นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ที่มา: theconversation.com