ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์ชี้ ระบบสุขภาพสหรัฐอเมริกาแตกแยกเป็นส่วน ขาดการเชื่อมต่อข้อมูลเวชระเบียน และไม่คุ้มครองบุคคลที่กำลังเปลี่ยนสถานะการจ้างงาน เสนอให้รัฐบาลริเริ่มโครงการสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลประชาชนแบบไร้รอยต่อ 

เมื่อเร็วๆ นี้ แพทย์และนักเขียน พญ.อิลานา ยูกีวิซ (Ilana Yurkiewicz) ได้ตีพิมพ์หนังสือ “Fragmented: A Doctor’s Quest to Piece Together American Health Care” หรือ แตกแยก: การต่อสู้ของหมอเพื่อรวมระบบสุขภาพสหรัฐอเมริกา ที่ได้ระบุถึงปัญหาในระบบสุขภาพสหรัฐฯ ซึ่งขาดฐานข้อมูลกลางของผู้ป่วย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา 

พญ.ยูกีวิซ ยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตที่เกิดภาวะขาดเกลือแร่จนหมดสติ และต้องให้ธาตุโพแทสเซียมอย่างเร่งด่วน แต่เมื่อเธอค้นประวัติของผู้ป่วยจากเวชระเบียนเดิมในระบบอิเล็คทรอนิกส์ เพื่อหาข้อมูลในการคำนวนปริมาณธาตุโพแทสเซียมที่ผู้ป่วยได้รับ เธอต้องใช้เวลาค้นหาข้อมูลมากกว่าหนึ่งชั่วโมง 

เพราะเมื่อผู้ป่วยส่งต่อมายังโรงพยาบาลใหม่ เวชระเบียนที่มาพร้อมผู้ป่วยมักมาในรูปแบบเอกสารแฟกซ์ ซีดี หรือสำเนากระดาษที่มีการจดบันทึกของแพทย์เดิม ซึ่งแตกต่างออกไปตามลักษณะการเก็บข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาล

แพทย์ที่รับผู้ป่วยส่งต่อจึงมักอยู่ในสภาพเสมือน “ตาบอด” ต้องตัดสินใจรักษาผู้ป่วย โดยคลำทางหาประวัติการรักษาเดิมไม่เจอ 

1

ในปี 2552 รัฐสภาแห่งสหรัฐฯ ผ่าน พ.ร.บ.เทคโนโลยีข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Information Technology for Economic and Clinical Health Act) เพื่อยกระดับการเก็บข้อมูลเวชระเบียนในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมให้งบสนับสนุนคลินิกและโรงพยาบาลยกเครื่องการเก็บข้อมูล 

แม้ว่านั่นจะส่งผลให้สถานพยาบาลส่วนมากในอเมริกาหันมาเก็บเวชระเบียนในคอมพิวเตอร์ ทว่า ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเวชระเบียนอย่างสะดวก เพราะสถานพยาบาลแต่ละแห่งใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลคนละประเภท และมีรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ต่างกัน

การสำรวจในสถานพยาบาลที่ พญ.ยูกีวิซ ทำงานในปี 2561 พบว่า 80% ของแพทย์เห็นว่าการตามหาข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยส่งต่อ เป็นไปอย่างยากลำบากมากถึงมากที่สุด ทั้งยังกินเวลาการทำงานของแพทย์ ซึ่งต้องรักษาผู้ป่วยหลายคนในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนี้ เมื่อสหรัฐฯ ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนต้องพึ่งพาการซื้อประกันสุขภาพเอกชน จึงมีผู้ป่วยหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพ หลีกเลี่ยงการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ปะติดปะต่อ 

ในหนังสืออีกเล่มชื่อ “We’ve Got You Covered: Rebooting American Health Care” หรือ เราจะคอยดูแลคุณ: เสริมพลังระบบสุขภาพอเมริกัน เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ ลิราน อินาพ (Liran Einav) และ เอมี่ ฟินเกลสไตน์ (Amy Finkelstein) 

ตอกย้ำปัญหาระบบสุขภาพที่แตกแยกเป็นส่วนของสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากกว่า 30 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ 

ในภาพรวม ประชากรของสหรัฐฯ ประมาณ 90% ที่มีประกันสุขภาพ แบ่งเป็นกลุ่มที่มีประกันสุขภาพจากการจ้างงาน (150 ล้านคน) และกลุ่มที่รับสิทธิประกันสุขภาพผ่านโครงการของรัฐ ได้แก่ โครงการเมดิแคร์ (Medicare) 65 ล้านคน และเมดิเคด (Medicaid) 70 ล้านคน

2

อย่างไรก็ดี มีช่องว่างใหญ่ในระบบประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนงานหรือเกษียณ ซึ่งจะขาดสิทธิใช้ประกันสุขภาพจากที่ทำงาน 

อินาพและฟินเกลสไตน์ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งออกจากงานและกำลังดำเนินเรื่องขอความคุ้มครองจากประกันสุขภาพของรัฐในโครงการเมดิแคร์ ในระหว่างนั้น เขามีอาการคล้ายโควิด-19 ต้องเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน ทำให้ต้องจ่ายเงินเองมากถึง 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.4 แสนบาท

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองเสนอให้สหรัฐฯ ริเริ่มสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคน ครอบคลุมการดูแลประชาชนแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพการจ้างงานแบบใด หรืออยู่ในวัยไหน 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรครอบคลุมบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น บริการปฐมภูมิ การป้องกันโรค แพทย์ฉุกเฉิน การดูแลผู้ป่วยนอก และการรักษาเฉพาะทาง โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมบริการที่ไม่จำเป็น เช่น ห้องผู้ป่วยในส่วนตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายสุขภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นมากถึงสองเท่าในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ขาดการวางแผนงบประมาณเพื่อทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน 

ทั้งสองเชื่อว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นไปได้ในสหรัฐฯ และครอบคลุมประชากรได้ทุกกลุ่ม โดยที่ไม่มีใครต้องกลัวว่าจะสูญเสียสิทธิประกันสุขภาพเมื่อตกงาน

ที่มา : https://undark.org/2023/08/25/book-review-two-critiques-of-americas-ailing-health-care-system/