ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พาว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงพื้นที่ดูงานบริการปฐมภูมิที่ศูนย์บริการสาธารณสุขดินแดง พร้อมเป็นตัวอย่างให้นานาประเทศในการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีบริการปฐมภูมิเป็นฐานราก


เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) และ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมกันต้อนรับ ไซมา วาเซด ว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะลงพื้นที่ดูงานจัดหน่วยบริการปฐมภูมิ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 4 ดินแดง กรุงเทพมหานคร

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ดูงานมีจุดประสงค์เพื่อพาผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ศึกษางานบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ซึ่งมีกลไกการบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชน ดูแลตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงบ้าน ช่วยป้องกันการล้มละลายจากค่ารักษา

1

“องค์การอนามัยโลกสนใจการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sutainable Develoment Goals) ของสหประชาชาติที่นานาประเทศต้องบรรลุเป้าภายในปี 2573 ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศในโลกที่บรรลุเงื่อนไขของตัวชี้วัดด้านทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว และข้อมูลจากการดูงานนี้ จะช่วยให้ท่านสามารถนำข้อมูลไปประกอบการดำเนินการระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกภูมิภาคนี้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับกรุงเทพ แม้เป็นเมืองหลวง มีโรงพยาบาลเยอะ แต่ยังมีพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการ ทาง สปสช.จึงร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำหน่วยบริการเอกชน ไม่ว่าจะเป็นร้านยา คลีนิกชุมชนอบอุ่น คลีนิกกายภาพบำบัด และเทเลเมดิซิน เข้ามาในระบบ

4

3

พร้อมกันนี้ ยังขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิรักษาพยาบาล ด้วยการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน แม้ที่ผ่านมา ยังมีผู้ประกันตนภายใต้ประกันสังคมและข้าราชการไม่ทราบ แต่กำลังปรับระบบเพื่อให้ทุกสิทธิเข้ารับบริการได้ที่ทุกหน่วยบริการด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว

“กรุงเทพมีคนที่เข้ามาอาศัยและไม่ได้ย้ายสถานพยาบาลประจำประมาณ 7 แสนกว่าคน ตอนนี้เรามีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เชื่อว่าจะช่วยให้พี่น้องใช้สิทธิได้เลย ซึ่งที่นี่มีพื้นที่ขนาดให้ญ่ มีความซับซ้อน มีหน่วยบริการหลายสังกัด มีคลีนิกและร้านยาจำนวนมากไม่ได้ลงทะเบียนกับเรา นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว คือ การปฏิรูปข้อมูล เป็นการเชื่อมข้อมูลหน่วยบริการทุกสังกัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ความยากจึงไม่ใช่การจัดการบริการ แต่เป็นการจัดระบบทางเทคนิคเพื่อเชื่อมข้อมูล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.สุนทร ให้สัมภาษณ์ว่า กรุงเทพมหานครและ สปสช. ร่วมจัดบริการปฐมภูมิโดยแบ่งเป็นเขต ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้จัดการเขต ทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการเอกชนในพื้นที่ เช่น คลีนิกชุมชนอบอุ่นและทันตกรรม หน่วยเทคนิคการแพทย์ คลีนิกกายภาพบำบัด ร้านยา เป็นต้น

2

นอกจากนี้ ยังจัดทำ Bangkok health zone ซึ่งซอยย่อยการดูแลสุขภาพประชาชนลงไปในแต่ละพื้นที่ มีโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ประสานงาน มีโรงพยาบาลรัฐและ สปสช. เป็นพี่เลี้ยงเครือข่าย ทำงานร่วมกับหน่วยบริการเอกชน ดูแลครบวงจรไร้รอยต่อทุกระดับตั้งแต่บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

“กรุงเทพมีรูปแบบบริการที่ผสมผสานระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นจุดเด่นของที่นี่ เพราะในต่างจังหวัด หน่วยบริการปฐมภูมิส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ปัจจุบันมีศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครทั้งหมด 69 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 49 เขต คิดเป็นประมาณ 40% ที่เหลือเป็นหน่วยบริการเอกชนอีก 200 กว่าแห่ง” นพ.สุนทรกล่าว

1

3

การลงพื้นที่ดูงานครอบคลุมบริการหลายด้านได้แก่ การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และการดูผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้องในบริการปฐมภูมิ รวมทั้งเยี่ยมบ้านผู้ป่วย

ศรีชนก ทองใบ ญาติของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเล่าว่า การจัดบริการปฐมภูมิของกรุงเทพมหานคร่วมกับ สปสช. ช่วยลดภาระทางการเงินและลดเวลาการไปโรงพยาบาล

“เราล้างไตให้พ่อเอง ทางโรงพยาบาลจะส่งคนมาดูแลถึงบ้าน และเจาะเลือดที่บ้าน แล้วเราก็ไปรับผลเลือดและยาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องพาผู้ป่วยไป ซึ่งสะดวกมาก”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1. สายด่วน สปสช. 1330
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ