ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติ หลังทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ภัยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ นับเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวโยงกับมิติอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การเดินทาง การเคลื่อนย้ายแรงงาน ฯลฯ เห็นได้จากโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก

แน่นอน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขดังกล่าว ผ่านการมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในระดับภูมิภาค”

สำหรับประเทศไทย เราได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ให้เป็นสถานที่จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการประสานงานของ ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภัยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED Secretariat Office)

การวิจัยหัวข้อ “โครงการประเมินสถานการณ์ด้านนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อจัดตั้งศูนย์ควบคุมโรคติดต่อประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้การดำเนินงานของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ร่วมกับนักวิชาการจำนวนมากทั้งในและนอกภูมิภาค ได้ฉายภาพมุมมองผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่อบทบาทและการดำเนินงานในครั้งนี้

งานวิจัย ขมวดประเด็นสำคัญไว้ว่า ความสำเร็จของประเทศไทยไม่ใช่การจัดตั้งสำนักงานฯ แต่คือการสนับสนุนให้ศูนย์อาเซียนฯ แห่งใหม่สามารถดำเนินงานได้ดี ทำให้ประชากรในภูมิภาคมีความปลอดภัย สามารถป้องกันและรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้ดีกว่าวิกฤติโรคโควิดที่ผ่านมา

1

บทเรียนเพื่อส่งเสริมการทำงานของศูนย์ฯ ระดับภูมิภาค

บทเรียนสำคัญจากงานวิจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งศูนย์ฯ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

1. ธรรมาภิบาลที่เข้มแข้ง : ภาวะผู้นำและความสัมพันธ์ทางการทูต, ความเป็นเจ้าของร่วมและเคารพอำนาจอธิปไตย, การพัฒนาความร่วมมือและการมีส่วนร่วม, ความมุ่งมั่นและสนับสนุนทางการเมืองและการแบ่งปันข้อมูล

ทั้งนี้ ทีมบริหารของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อระดับภูมิภาคต้องประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อระดับภูมิภาคไม่ควรลดอำนาจการบริหารและจัดการภายในตนเอง (Autonomy) ทางด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ แต่ควรมีบทบาทหน้าที่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำต่อประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ ควรจะต้องทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกเกิดความเข้าใจ และตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมเครือข่ายองค์กรและการมีเป้าหมายด้านสาธารณสุขร่วมกัน (Shared goals and visions) การแบ่งปันความเป็นผู้นำ (Share leadership) สามารถช่วยส่งเสริมการประนีประนอมและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก

ควรทำความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีอยู่เดิมแล้วในพื้นที่ เพื่อลดโอกาสของความขัดแย้งและการทำงานที่ซ้ำซ้อนบนพื้นฐานของความแตกต่างและความหลากหลายที่มี แต่ละประเทศสามารถดึงจุดแข็งและศักยภาพของตนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเพิ่มพูนทักษะแก่สมาชิกร่วม อันจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม

กิจจกรรมเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพร่วมกันดังกล่าว ถือเป็นหนทางสำหรับประเทศสมาชิกในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (Strong relationship) เนื่องจากแต่ละประเทศสามารถแบ่งปันสิ่งที่ตนรู้และทำได้ดี การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ ควรจะทำด้วยการแบ่งงานและหน้าที่ในแต่ละประเทศ เพื่อให้แต่ละประเทศได้มีโครงสร้างพื้นฐานของตนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในช่วงวิกฤติของภูมิภาค

การแบ่งปันข้อมูล (Data sharing) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งความไว้วางใจ (Trust) เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการแบ่งปัน

ระยะทางและความใกล้ชิด (Border proximity) ของแต่ละประเทศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลต่อการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป

2. การจัดการที่มีประสิทธิภาพ : การบูรณาการและการจัดการข้ามพรมแดน, เงินทุนสนับสนุนและความยั่งยืน, การสื่อสารภายในองค์กรและการเสริมสร้างศักยภาพ

ทั้งนี้ ความท้าทายขององค์กรและการบริหารจัดการที่สำคัญคือการบูรณาการ (Integration) ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภาษา และทรัพยากรต่างๆ (ห้องปฏิบัติการ ความสามารถทางเทคนิค ฯลฯ) การสนับสนุนทางการเงินและการเมือง และความคาดหวังของประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน

การขาดเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานที่ยั่งยืน  (Sustainable funding) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรระดับภูมิภาค ซึ่งทำให้การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic plans) ของการดำเนินงานทำได้ยาก

การมีประเทศหรือผู้สนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นผู้นำหลักสำหรับการจัดหาทุน (Funding procurement) ให้กับองค์กรอาจจะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายอื่นด้วย

ผลของการช่วยเสริมสร้างระบบเดิมและโครงการที่ดำเนินอยู่ สามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีความร่วมมือกันระหว่างองค์กร และกระตุ้นความตระหนักรู้ (Awareness) ของรัฐบาลและความจำเป็นของการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน

3. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความร่วมมือจากภายนอก : การสร้างพันธมิตรแบบพหุภาคี, การมีส่วนร่วมของภาคสาธารณชนและการสื่อสารกับภายนอกองค์กร

ทั้งนี้ องค์กรควบคุมโรคในระดับภูมิภาคควรร่วมมือกับองค์กรพหุภาคี เช่น องค์การอนามัยโลก หรือธนาคารโลก เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วม การรวมตัว (Convening power) เพื่อจัดประชุมหน่วยงานด้านสุขภาพระดับภูมิภาค การต่อรองและเจรจา (Negotiating power) กับองค์กรภายนอกอื่น ๆ และการจัดหาเงินทุนสนับสนุนให้กับองค์กร

สังคมในระดับชุมชน (Community) ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการรับมือกับวิกฤติทางสาธารณสุขต่าง ๆ จึงควรมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการสร้างหน่วยงานควบคุมโรคระดับภูมิภาคด้วย

เนื่องจากชุมชนมักจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรได้รับการเอาใจใส่ที่มากขึ้น โดยไม่เพียงแค่มีการเผยแพร่ข้อมูล (Scientific data) เท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงช่องทางในการสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

อนึ่งในตอนท้ายงานวิจัยสรุปด้วยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ให้บทเรียนราคาแพงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือที่เป็นปึกแผ่นกับประเทศข้างเคียงและในระดับภูมิภาค

การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือจึงถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน แบ่งปันและช่วยเหลือระหว่างประเทศ ทั้งแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำงานด้านต่างๆ การสร้างและแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤติทางด้านสาธารณสุข

การจะมีความร่วมมือในเรื่องการควบคุมโรคติดต่อระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน มีความเชื่อใจในการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก