ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล” ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ซึ่งจัดทำโดย สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดยมี รศ.ดร.ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ เป็นบรรณาธิการ ได้เผยแพร่ “นิพนธ์ต้นฉบับ” (Original Article) เรื่อง “อุบัติการณ์และการจัดการของอาการยึกยือเหตุยาในผู้ป่วยจิตเวช: การศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลังของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง”

สำหรับอาการยึกยือเหตุยา (tardive dyskinesia) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในระยะยาวของความผิดปกติในการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการได้รับยาที่มีฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับโดปามีน (dopamine-receptor blocking agents; DRBAs) ซึ่งส่วนใหญ่คือยาต้านโรคจิต แต่ก็อาจจะเกิดได้จากยาอื่น เช่น metoclopramide เป็นต้น

ความเป็นมาของการเกิดอาการยึกยือเหตุยาพบว่ามีการเริ่มใช้ยาต้านโรคจิต ใน ค.ศ. 1950 ในการรักษาโรคจิตเภทและโรคอื่น ๆ ทางจิตเวชอย่างแพร่หลาย แต่ภายหลังจากการได้รับยาเป็นเวลา  2-3  ปี  พบว่ามีผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวขึ้น

มีการรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1957 เกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าและกล้ามเนื้อรอบปาก ซึ่งเรียกว่า paroxysmal dyskinesia ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยอนุพันธ์ของยากลุ่ม phenothiazine กลไกการเกิดเชื่อว่าเกิดจากการปิดกั้นตัวรับโดปามีนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ดังนั้นการเกิดอาการยึกยือเหตุยาส่วนใหญ่จึงไม่หายจากอาการแม้จะมีการหยุดยาที่เป็นสาเหตุแล้ว

ลักษณะของการเกิดอาการยึกยือเหตุยา จะพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติแบบกระตุก (choreiform  movement) ที่ไม่ได้ตั้งใจ เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ บริเวณที่มักพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้แก่  ลิ้น  ใบหน้าส่วนล่างและขากรรไกร แขนขา ส่วนที่พบได้น้อยได้แก่ คอหอย กระบังลมหรือกล้ามเนื้อส่วนลำตัว

อาการผิดปกตินี้เกิดหลังจากได้รับยาต้านโรคจิตอย่างน้อย  2-3  เดือน สำหรับในผู้สูงอายุอาจเกิดความผิดปกตินี้ได้เร็วกว่านี้หลังจากได้รับยาต้านโรคจิต

การวินิจฉัยอาการยึกยือเหตุยามีเกณฑ์ในการวินิจฉัยตาม diagnostic and statistical manual of  mental disorders ได้แก่ ได้รับยาต้านโรคจิตอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติปานกลางนอกเหนือการควบคุมของร่างกายมากกว่าหนึ่งส่วน หากผิดปกติน้อยต้องมากกว่าสองส่วนและต้องไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น

อย่างไรก็ดี การศึกษาทบทวนการเกิดอาการยึกยือเหตุยาปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเนื่องจากขาดการรายงานข้อมูลที่เป็นระบบ รวมทั้งการวินิจฉัยการเกิดอาการยึกยือเหตุยาจากยาต้านโรคจิตยังไม่ได้มีการใช้แบบประเมินมาตรฐานและส่วนใหญ่ข้อมูลมาจากผู้ป่วยเป็นหลัก การขาดการติดตามค้นหาในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง การรักษาอาการยึกยือเหตุยาที่มีความแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพื่อค้นหาอุบัติการณ์และการจัดการรวมทั้งผลลัพธ์ของการจัดการอาการนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการติดตามและดูแลผู้ป่วยที่เกิดอาการยึกยือเหตุยาต่อไป

ทั้งนี้ ผลการศึกษานี้พบผู้ป่วยที่เกิดอาการยึกยือเหตุยา จำนวน 112 คน คิดเป็นอุบัติการณ์ร้อยละ 0.14 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยคือ 53 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ได้รับการวินิจฉัยโรคจิตเภท (F20-F29) มากที่สุด

บริเวณที่เกิดอาการยึกยือเหตุยาที่พบมากที่สุด  คือ รอบปาก จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 72.41 สำหรับยาที่ทำให้เกิดอาการยึกยือเหตุยา พบว่ายาต้านโรคจิตกลุ่มเก่าเป็นสาเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 70.06 ยาที่มีรายงานมากที่สุด คือ Fluphenazine long-acting injection

การจัดการอาการยึกยือเหตุยาส่วนใหญ่จัดการโดยการลดขนาดยาที่เป็นสาเหตุ รองลงมาคือการเปลี่ยนไปใช้ยา clozapine หรือยาอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการลดลงหรือไม่มีอาการหลังจากได้รับการจัดการ

ทั้งนี้ อาการยึกยือเหตุยาพบอุบัติการณ์ร้อยละ 0.14   ส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาต้านโรคจิตกลุ่มเก่า และเมื่อได้รับการจัดการผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรืออาการหายไป