ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Thai Journal of Clinical Pharmacy หรือ “วารสารเภสัชกรรมคลินิก” ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 ม.ค. - เม.ย. 2565 (เล่มล่าสุด) ซึ่งผลิตโดยกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมี ภก.ธงชัย วัลลภวรกิจ เป็นบรรณาธิการ ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก เภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชสาธารณสุข ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการนำเสนอบทความวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิกและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยหัวข้อ “สถานการณ์และโอกาสพัฒนาการจัดการระบบเภสัชกรรมของโรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข”

สำหรับการวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานการณ์ สภาพปัญหา และข้อเสนอแนะที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาระบบยาและระบบเภสัชกรรมจากมุมมองของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

การตอบแบบสำรวจจะตอบในนามโรงพยาบาลหรือ สสจ. ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเสนอประกอบการกำหนดแผนในการพัฒนาระบบเภสัชกรรม การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจออนไลน์ดำเนินการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยโรงพยาบาลหรือ สสจ. ระบุสถานการณ์หรือสภาพปัญหาด้านยาที่สำคัญ 3 เรื่องเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา

โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สสจ. ที่ร่วมตอบแบบสำรวจมีทั้งหมด 353 แห่ง จากทั้งหมด 974 แห่ง (36.22%) พบว่า สถานการณ์ที่เป็นปัญหาของโรงพยาบาลและ สสจ. ที่ต้องการแก้ไขมากที่สุดโดยรวม ได้แก่ ความก้าวหน้าหรือการพัฒนาบุคลากร (62.04%) การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ (43.63%) งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ (35.41%) ความแออัด/ระยะเวลารอคอยรับยา (33.14%) และความคลาดเคลื่อนทางยา (24.65%)

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหามากที่สุด

- ประเด็นความก้าวหน้าบุคลากรโดยให้ตำแหน่งเภสัชกรเลื่อนไหลถึงระดับชำนาญการพิเศษและมีระดับเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น

- ประเด็นการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์โดยการลดขั้นตอนในกระบวนการจัดซื้อ

- ประเด็นความแออัดในการรับยา/ระยะเวลารอคอยรับยานาน

- ประเด็นความคลาดเคลื่อนทางยาและประเด็นด้านเภสัชกรรมปฐมภูมิ มีข้อเสนอแนะคือการขยายกรอบอัตรากำลังคนเพิ่ม