ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง และ วาศินี กลิ่นสมเชื้อ คณะสังศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยเรื่อง ชีวิต สุขภาพ และการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมือง: การศึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานคร เผยแพร่บนเว็บไซต์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

งานวิจัยดังกล่าว เป็นไปเพื่อสำรวจสถานการณ์การเข้าถึงระบบสุขภาพของกลุ่มเปราะบางที่จะนำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในอนาคต โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นคนขับแท็กซี่จำนวน 300 คน ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล

งานวิจัยระบุว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างนี้มีอายุกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ

1

ทั้งนี้ ด้วยวัย เงื่อนไขทางด้านร่างกาย และการต้องนั่งขับรถเป็นเวลานานถึง 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้ต้องประสบกับปัญหาทางด้านสุขภาพ สำหรับทางร่างกายพบว่ามีอาการปวดเมื่อยตามตัว เช่น ข้อเข่า หลัง ฯลฯ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ จากการอั้นปัสสาวะขณะรับ-ส่ง ผู้โดยสาร ส่วนทางจิตใจมีอาการเครียด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ อันเกิดจากปัญหาการจราจร รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และพฤติกรรมของผู้โดยสาร

นอกจากนี้ จากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น การเกิดขึ้นของบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งปัญหาเชิงระบบของแท็กซี่ที่มีจำนวนมาก ทำให้เกิดช่องว่างของปัญหาคุณภาพบริการ

งานวิจัยระบุต่อไปว่า แม้คนขับแท็กซี่จะเผชิญปัญหาด้านสุขภาพอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและสิทธิประโยชน์ กลับไม่ครอบคลุมและยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึง รวมถึงขาดความเข้าใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นผู้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งไม่สามารถรับบริการนอกหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ได้ หากไม่ได้ย้ายสิทธิของตนเองมาที่ที่อยู่ประจำปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังไม่ได้รับสวัสดิการอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ประกันการว่างงาน ประกันการเสียชีวิต ฯลฯ มีเพียงการร่วมกลุ่มช่วยกันเอง แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่จะจัดตั้งกองทุนกลาง โดยหลักๆ จะเน้นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในด้านค่ารักษาพยาบาลบางส่วนให้กับคนขับแท็กซี่ที่ไม่มีทุนทรัพย์ หรือช่วยเหลือค่าจัดงานศพ ทว่ารูปแบบนี้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทางการนัก เพราะปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับเงินสะสมรายเดือน ซึ่งทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน

2

ดังนั้น ในข้อเสนอระยะสั้น งานวิจัย สรุปว่า 1. มีการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพแหละการตรวจคัดกรองสุขภาพของคนขับแท็กซี่ 2. กำหนดให้คนขับแท็กซี่ทุกคนได้รับหลักประกันเทียบเท่า กับสิทธิประกันสังคม (มาตรา 33) 3. ควรมีการจัดตั้งกองทุนกลางเพื่อขึ้นทะเบียนคนขับรถแท็กซี่ และจัดสวัสดิการแก่คนขับ 4. พัฒนาศักยภาพของคนขับรถแท็กซี่ ทั้งทางทักษะและความรู้ เพื่อให้สามารถปรับตัวแข่งขันด้านบริการให้ดียิ่งขึ้น 

ในส่วนข้อเสนอในระยะยาว 1. มีนโยบายในการพัฒนาระบบแท็กซี่ในประเทศให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น กำหนคุณสมบัติของคนขับรถแท็กซี่ มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ ฯลฯ เพื่อคัดกรองคนเข้าสู่อาชีพ 2. สร้างระบบแท็กซี่ทางเลือกใหม่สำหรับรัฐบาลกลาง หรือ กทม. เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ตัวอย่างเช่น แท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ