ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันระยะเฉียบพลัน (acute ischemic stroke) ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมีโอกาสสูงที่จะพิการและเสียชีวิต ซึ่งทุกวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ให้สิทธิประโยชน์การรักษาด้วยการใช้ “ยาละลายลิ่มเลือด” เป็นหลัก
การให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดอัตราการพิการและเสียชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถรับยาละลายลิ่มเลือดได้
นำมาสู่การศึกษาของ คณะนักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ภายใต้การวิจัยหัวข้อ “การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันผ่านสายสวนหลอดเลือดด้วยวิธี endovascular treatment ในประชากรไทย” เพื่อต้องการตอบคำถามถึงความคุ้มค่า
นั่นเพราะทุกวันนี้มีเทคโนโลยีการรักษาที่เรียกว่า “การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือด” หรือ endovascular treatment (EVT) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด และไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด โดยวิธีการรักษาดังกล่าวจะช่วยให้เกิดผลดีต่อการรักษาเป็นอย่างมาก
การรักษาด้วยวิธี EVT จำเป็นต้องใช้ “อุปกรณ์-เครื่องมือ” (Thrombectomy) ที่มีราคาสูง ปัจจุบันระบบบัตรทองยังไม่ครอบคลุมการเบิกจ่ายรายการดังกล่าว ที่ผ่านมาผู้ป่วยบางรายต้องยอมแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง
ทั้งนี้จากผลการวิจัยที่เกิดขึ้น พบว่าหากต้องการบรรจุ EVT ลงในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่มทั้งสิ้น 887 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากถึงปีละ 2,000 ราย เป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี
ทุกวันนี้ ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลเพียง 51 แห่ง ที่ให้การรักษาด้วยวิธี EVT ปัจจุบันมีแพทย์เพียง 49 คน ที่สามารถทำหัตถการนี้ได้ ซึ่งเกิน 50% กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
อุปกรณ์-เครื่องมือ (Thrombectomy) ที่ใช้ในการรักษาด้วยวิธี EVT
การใช้อุปกรณ์-เครื่องมือในการรักษาลิ่มเลือดอุดตัน มีหลักการทำงานสำคัญ 3 ขั้นตอน เริ่มจาก 1. สลายลิ่มเลือดให้มีขนาดเล็กด้วยวิธีกลศาสตร์ 2. ดูดลิ่มเลือดขนาดเล็กผ่านสายสวน 3. ลำเลียงลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือด โดบชุดอุปกรณ์สลายลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดด้วยวิธีกลศาสตร์ (Mechanical thrombectomy device : MT device) ประกอบด้วย 1. สายสวน 2. อุปกรณ์ที่ใช้ในหลอดเลือด
คณะนักวิจัย ระบุถึงข้อค้นพบว่า ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี EVT ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ให้ผลการรักษาที่ “ดีกว่า” การให้ยาละลายลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการหลังการรักษาได้ ดังนั้นแนวทางการรักษาของประเทศไทยจึงแนะนำวิธี EVT ในคนไข้ที่เข้าเกณฑ์การรักษา
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้พิสูจน์ว่าการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี EVT ทั้งในผู้ป่วยได้รับและไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด มีความเป็นไปได้ทั้งในด้านงบประมาณ ขีดความสามารถของผู้ให้บริการ จึงสามารถบรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
- การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันระยะเฉียบพลันด้วยวิธี EVT ร่วมกับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน “มีความคุ้มค่า” ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรพิจารณาบรรจุอุปกรณ์ Thrombectomy เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันระยะเฉียบพลันจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดอัตราเสียชีวิตและพิการ ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมศักยภาพและความพร้อมของการให้บริการรักษาด้วยวิธี EVT ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้อย่างทันถ่วงที
- โรงพยาบาลและแพทย์ที่มีความพร้อมในการรักษาด้วยวิธี EVT ยังมีจำกัดและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และบางจังหวัดเท่านั้น ดังนั้นองค์กรวิชาชีพและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรจัดทำแนวทางส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลและอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านนี้มากขึ้น
ผลการเปรียบเทียบด้วยค่า ICER (มุมมองทางสังคม) ความคุ้มค่า (ระบบยอมจ่าย) ไม่เกิน 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ ดังนั้นการรักษาด้วย EVT จึงมีความคุ้มค่าในบริบทประเทศไทย * ราคารวมของอุปกรณ์อยู่ที่ 73,800 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่บริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายเสนอให้ภาครัฐ หากมีการบรรจุ EVT อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ |
- 2392 views