เทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกนำมาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ “Smart Watch” ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมื่อข้อมูลสุขภาพอยู่บนแขน จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลนั้นๆ มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอในชีวิตประจำวัน นับเป็นปัจจัยเสี่ยงและบ่อเกิดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 70%
Smart Watch กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกพูดถึง หนักเข้าถึงขั้นเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยซ้ำ
“ผู้กำหนดนโยบายบางส่วนเชื่อว่า การสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับประชาชน เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เพียงอย่างเดียวจะช่วยให้ผู้ที่สวมใส่มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า “ไม่จริง” หากต้องการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งให้ได้ผล จำเป็นต้องมีการออกแบบมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย” นี่คือบทสรุปรวบยอดประเด็น
คณะผู้วิจัยเครือข่ายโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงได้ออกแบบโปรแกรมที่ชื่อว่า The physical activity at work (PAW) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งสำหรับประชากรที่ทำงานนั่งโต๊ะ (office-based workers) ในประเทศไทย พร้อมทั้งเก็บข้อมูลเป็นงานวิจัยเต็มรูปแบบครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มของการมีกิจกรรมทางกายในที่ทํางาน the Physical Activity at Work (PAW) study: a cluster randomised trial of a multicomponent short-break intervention to reduce sitting time and increase physical activity among office workers in Thailand
สำหรับ The physical activity at work (PAW) คือโปรแกรมที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในที่ทำงาน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการใน 4 ระดับ ที่คาดว่าจะช่วยจูงใจให้เกิดกิจกรรมทางกายได้ ได้แก่ 1. ระดับบุคคล (การสวมใส่ smart watch, การให้รางวัลประจำสัปดาห์) 2. ระดับสังคม (กิจกรรมขยับร่างกายขณะพักเบรค) 3. ระดับองค์กร (การกระตุ้นจากผู้นำองค์กร) 4. ระดับสิ่งแวดล้อม (โปสเตอร์ให้ความรู้)
กลุ่มตัวอย่างออฟฟิศภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 18 ออฟฟิศ รวมทั้งสิ้น 282 คน คือผู้เข้าร่วมการวิจัย และเมื่อสิ้นสุดการวิจัย เหลือผู้เข้าร่วม 254 ราย คิดเป็น 90% ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยผลการวิจัยพบว่า มาตรการโปรแกรม PAW ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เข้ารับมาตรการอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติได้
|
ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นจากการวิจัย
- การจัดทำนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์นั้น ต้องกระตุ้นทั้งระดับปัจเจก ระดับสังคม ระดับองค์กร และระดับสิ่งแวดล้อม
- การแจก Smart Watch เพียงอย่างเดียว ไม่เกิดผลดีอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ หากกลุ่มเป้าหมายไม่เข้าร่วมมาตรการระดับสังคมควบคู่ไปด้วย
- มาตรการที่อาจได้ผลเมื่อเปรียบเทียบงานวิจัยจากทั่วโลกคือ “มาตรการแบบองค์รวม” ที่ประกอบจากทุกระดับ เช่น ระดับบุคคลอาจใช้ Smart Watch ระดับสังคมอาจใช้มาตรการให้รางวัลแบบแข่งขัน ระดับองค์กรอาจใช้การมีส่วนร่วมของผู้นำองค์กร และระดับสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือโต๊ะปรับยืน ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากพบว่าช่วยปรับพฤติกรรมได้จริง แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่
- อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจผิดว่า แม้ตัวเองจะมีพฤติกรรมเนือยนิ่งตลอดทั้งวัน แต่สามารถแก้ไขหรือชดเชยได้ด้วยการออกกำลังกายในช่วงเย็น ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ผลดีจากการออกกำลังกายไม่สามารถหักล้างผลเสียจากพฤติกรรมเนือยนิ่งได้
- 287 views