ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าอุ่นใจ เมื่อได้ทราบว่า “การกำหนดมาตรการ” ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ของ “สถานพยาบาล” และการนำมาตรการดังกล่าว “ไปสู่การปฏิบัติ” ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety และที่ไม่ได้เข้าร่วมนั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ที่สำคัญก็คือ มาตรการที่สถานพยาบาลกำหนดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 นั้น คล้ายคลึงกับมาตรการใช้ในสถานพยาบาลในต่างประเทศ

นักวิจัยเครือข่ายโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ดำเนินการวิจัยหัวข้อ “รายงานการประเมินการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ของสถานพยาบาล โดยใช้กลไกและระบบสนับสนุนของยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. 2561-2564” เพื่อรับมือวิกฤตการณ์ในอนาคต

การวิจัยดังกล่าวใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การทบทวนเอกสารอย่างมีขอบเขต โดยคัดเลือกเอกสารที่เผยแพร่ระหว่าง 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ส.ค. 2564 และเกี่ยวข้องกับมาตรการของสถานพยาบาลในระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปหรือเทียบเท่า เพื่อรับมือ-เตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือเกี่ยวกับมาตรการของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ป่วย หรือผู้เยี่ยมเยือน

อีกทั้งทำการทบทวนเอกสารต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและเอกสารอื่นๆ (Grey literature) เพื่อเก็บข้อมูลในประเด็นต่างๆ ตามกรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการประเมิน และใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการพัฒนาแนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และการอภิปรายกลุ่ม (Focus group discussion) รวมถึงการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูล

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ค้นพบจากการวิจัยก็คือ มาตรการการรับมือโควิด-19 หลายมาตรการอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น การให้บริการรักษาทางไกลแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การเลื่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน การหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ใหม่มาปฏิบัติงานบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อทดแทนกำลังคนที่ไปปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ฯลฯ

นอกจากนี้ สถานพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงการปรับปรุงแนวปฏิบัติภายใต้กลไกและเครื่องมือในยุทธศาสตร์ความปลอดภัยฯ และสถานพยาบาลบางส่วนไม่ทราบถึงการจัดการอบรมที่เกี่ยวข้องกับ 2P Safety ที่ถูกจัดขึ้นโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ซึ่งอาจเกิดจากการเลือกใช้สื่อหรือช่องทางในการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมกับผู้รับสาร

ข้อค้นพบเหล่านี้ สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย อันได้แก่ ผู้บริหารและบุคลากร รวม 101 คน จากสถานพยาบาล 20 แห่ง (โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ) เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ก.ค. 2564 ถึงเดือน ม.ค. 2565

คณะผู้วิจัยได้จัดทำข้ออภิปรายต่อผลการประเมินใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 การตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ของสถานพยาบาลเกือบทั้งหมดอยู่บนความไม่แน่นอน ดังนั้นการสื่อสารและให้โอกาสประชาชนทั่วไปหรือผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาหรือตัดสินใจกำหนดมาตรการ จะทำให้เกิดความเข้าใจ ไว้ใจ และเป็นการแบ่งปันความรับผิดชอบต่อมาตรการและผลกระทบที่เกิดขึ้น

2. การสื่อสารภายในสถานพยาบาลนอกจากการใช้กลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว ผู้กำหนดมาตรการควรสื่อสารด้วยความโปร่งใส อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อให้กำลังใจ ลดความตื่นตระหนกและความเครียดของบุคลากรและควรเพิ่มช่องทางในการสื่อสารกับหน่วยงานอื่นๆ และประชาชนในชุมชนให้มากขึ้นกว่าในอดีต

3. การกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินมาตรการควรมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับติดตามและประเมินผลในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพราะเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่สุดและมีโอกาสเกิดผลกระทบสูงต่อระบบสุขภาพในอนาคต เพื่อที่จะได้สร้างองค์ความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการที่ดำเนินการแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย แบ่งออกเป็น ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยฯ และข้อเสนอแนะต่อสถานพยาบาล

ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยฯ

  1. ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 และผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับระบบการให้บริการในช่วงที่โควิด 19 แพร่ระบาด โดยการออกคำแนะนำหรือให้การสนับสนุนแก่สถานพยาบาลในการสร้างระบบการกำกับติดตาม และประเมินผลกระทบจากมาตรการอย่างเป็นระบบ
  2. ควรใช้ประเด็นโรคอุบัติใหม่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยฯ เช่น การสนับสนุนให้เกิดระบบ/วิธีการสร้างบุคลากรสาธารณสุขในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ให้มีศักยภาพและมีความตระหนักด้านความปลอดภัย หรือการใช้ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพื่อสะท้อนเรื่องความปลอดภัยในการให้บริการในช่วงสถานการณ์ เป็นต้น
  3. ควรปรับปรุงเครื่องมือและกลไกภายใต้ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยฯ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ กฎหมาย หรือประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ทยอยออกมาระยะ ให้สถานพยาบาลนำไปปรับใช้ และสนับสนุนบุคลากรในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ๆ พร้อมทั้งมีการกำกับติดตามและประเมินผลการการใช้เครื่องมือและกลไกภายใต้ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยฯ อย่างสม่ำเสมอ
  4. ควรปรับวิธีในการสื่อสารนโยบาย/ข้อมูลไปยังสถานพยาบาลให้มีกลยุทธ์ที่เหมาะสม มีความโปร่งใส ชัดเจน รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย เช่น การสื่อสารผ่านฐานข้อมูลออนไลน์ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ และควรมีการกำกับติดตามและประเมินผลการถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารของหน่วยงานส่วนกลางอย่างสม่ำเสมอ

ข้อเสนอแนะต่อสถานพยาบาล

  1. ควรสร้างกลยุทธ์และเพิ่มช่องทางในการสื่อสารให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง (Two way communication) ทั้งภายในสถานพยาบาล และนอกสถานพยาบาล (ระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่) เกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ของสถานพยาบาล
  2. ควรสร้างระบบการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบ โดยการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับระบบการให้บริการทางสาธารณสุขในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ
  3. ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้ป่วยในการกำหนดมาตรการของสถานพยาบาล เช่น การตัดสินใจผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงพยาบาลที่มีบุคคลในชุมชนรวมอยู่ด้วย เป็นต้น