ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยเรื่อง “การประเมินทางคณิตศาสตร์ (Actuarial Valuation) ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการและผู้อาศัยสิทธิในอีก 30 ปีข้างหน้า” วิทยานิพนธ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดย มัณฑนา จาดสอน พบว่า ในปีงบประมาณ 2588 ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ของกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการ อาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5 เท่าจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางค่าใช้จ่ายมาจากอัตราเงินเฟ้อ อายุ รวมถึงจำนวนข้าราชการและผู้ที่สิทธิครอบคลุม อาทิ บิดามารดา คู่สมรส

สำหรับรายละเอียดการประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ของกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถแบ่งตามประเภทได้ดังนี้

ประเภทผู้ป่วยนอก

เดิมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการข้าราชการและผู้ที่สิทธิครอบคลุม ในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จากการประเมินค่าใช้จ่ายระหว่างปี 2558 – 2588 พบว่า การรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกในปี 2588 จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายราว 2.9 แสนล้านบาท 2. คู่สมรส อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท 3. บิดามารดา ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และ 4. บุตร จะอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของทั้ง 4 กลุ่ม มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการด้านยาและสารอาหารทางเส้นเลือด รวมถึงยาที่ต้องนำไปใช้รักษาต่อที่บ้าน

ประเภทผู้ป่วยใน

เดิมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการข้าราชการและผู้ที่สิทธิครอบคลุม ในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท

แต่จากการประเมินค่าใช้จ่ายระหว่างปี 2558 – 2588 พบว่า การรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกในปี 2588 จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.5 แสนล้านบาท 2. คู่สมรส อยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท 3. บิดามารดา จะมีค่าใช้จ่ายราว 7.6 หมื่นล้านบาท และ 4. บุตร จะอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทุกกลุ่มมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการค่าห้องและค่ายา ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานสำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ทำให้เป็นรายการที่น่ากังวลที่สุด เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกินการควบคุม ส่วนรายการที่รองลงมาจะมีความแตกต่างตามการใช้ของกลุ่ม เช่น ข้าราชการ จะเป็นหมวดอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษา

งานวิจัยระบุต่อไปว่า ในอนาคตภาครัฐควรมีการเตรียมนโยบายที่จำกัดงบประมาณค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาล เช่น หมวดการรักษา ประเภทผู้ป่วย ช่วงอายุ ฯลฯ รวมถึงมีการปรับปรุงข้อมูลการคาดการณ์ให้สอดคล้องกับการกำหนดนโยบาย

อนึ่ง สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ : การประเมินทางคณิตศาสตร์ (Actuarial Valuation) ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการและผู้อาศัยสิทธิในอีก 30 ปีข้างหน้า (nida.ac.th)