ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดโทษ และทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 ปี 2562 - 2563 พบว่ามีการใช้ยาคลายเครียดและยานอนหลับเป็นประจำมากขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 ปี 2557 และมีความชุกในการใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำทุกวันร้อยละ 1.9%

“การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย” เป็นการสำรวจระดับประเทศที่ช่วยเฝ้าระวังสภาวะทางสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งจากการสำรวจครั้งที่ 6 ปี 2562 - 2563 โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ ได้ทำการสำรวจทั้งในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโรคที่สามารถตรวจวัดพื้นฐาน ครอบคลุม ทั้งในวัยทำงาน และผู้สูงอายุ

ผลการสำรวจพบว่า ในช่วงระยะเวลา 1 เดือน มีคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปกินยาแก้ปวดร้อยละ 55.9  ผู้หญิงกินยาแก้ปวดมากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงกินยาแก้ปวดร้อยละ 59.5 ขณะที่ผู้ชายกินยาแก้ปวดร้อยละ 51.9

สาเหตุหลักที่ทำให้กินยาแก้ปวดคือปวดหัว ร้อยละ 62.9 รองลงมาคือ ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 21.3 และปวดข้อร้อยละ 9.6

หากพิจารณาตามความถี่ในการกิน พบว่ามีคนที่กินยาแก้ปวดสัปดาห์ละ 2-3 วัน ร้อยละ 14.8 กินเกือบทุกวันร้อยละ 3.6 และกินทุกวันร้อยละ 1.9 พิจารณา ถ้าพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่าความชุกการกินยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นและสูงสุดในกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป

แหล่งที่ได้ยาแก้ปวดร้อยละ 30.5 ได้จากร้านขายยา รองลงมาคือโรงพยาบาล ร้อยละ 21.5 ร้านค้าร้อยละ 20.5 และได้มาจากสถานีอนามัยร้อยละ 17.9

ผลการสำรวจยังพบว่าในช่วง 6 เดือน มีคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.9 กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเป็นประจำ (รวมเมื่อมีอาการและไม่มีอาการ) ผู้หญิงกินยาแก้ปวดสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงกินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับร้อยละ 3.4 ผู้ชายกินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับร้อยละ 2.5

 

แหล่งที่ได้รับยาคลายเครียดคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.1 ได้จากสถานบริการสุขภาพ ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิกเอกชน และสถานีอนามัย และที่เหลือได้จากร้านขายยา และร้านค้า

การสำรวจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ พบว่าในช่วง 6 เดือน มีคนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอาการหวัด ร้อยละ 30.8 ท้องเสียเฉียบพลัน ร้อยละ 10.9 และแผลฉีกขาดร้อยละ 5.7 ในกลุ่มคนที่มีอาการดังกล่าว มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนี้ อาการหวัดร้อยละ 47.8 อาการท้องเสียเฉียบพลันร้อยละ 39.2 แผลฉีกขาดร้อยละ 38.2

ความคิดเห็นเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 46.4 บอกว่ามีความเชื่อมั่นในบัญชียาหลักแห่งชาติและร้อยละ 45.0 ไม่รู้จักบัญชียาหลักแห่งชาติ และร้อยละ 83.3 มีความเชื่อมั่นในยาที่ผลิตภายในประเทศไทย

การใช้ยาเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผล ทำให้แต่ละปีประเทศไทยต้องเสียเงินนำเข้ายาจำเป็นจำนวนมาก และการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลยังก่อให้เกิดการดื้อยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มปฏิชีวนะ ผลการสำรวจอาจช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หาทางแก้ไขให้การใช้ยาของคนไทยเหมาะสมขึ้น