ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำข้อเสนอ “นโยบายราคายา” เน้นสนับสนุนการใช้ยาสามัญ เพิ่มอำนาจการต่อรองราคายาผ่านการจัดซื้อยาแบบรวม สร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านราคาต่อสาธารณะ

การเข้าถึงยาที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล เป็นหนึ่งในรากฐานของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในหลายประเทศยังไม่สามารถแก้ปัญหายาราคาแพง โดยเฉพาะในกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง ที่มักต้องมีการใช้ยาต่อเนื่อง และมีต้นทุนราคายาค่อนข้างสูง ปัญหาราคายาแพงยังส่งผลให้ครัวเรือนทั่วโลกยากจนลง เมื่อต้องจ่ายยาด้วยเงินของตนเอง

ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และตะวันออก ค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการซื้อยามีอัตราส่วนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับบริการสุขภาพด้านอื่น ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น เพราะยามีราคาแพง แม้ว่ายาเหล่านี้ถูกคิดค้นมานานหลายปี

องค์การอนามัยโลกจึงออกแนวทางการทำนโยบายราคายา เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดซื้อยา และผู้ให้บริการสุขภาพ นำไปปรับใช้เพื่อสร้างการเข้าถึงยาในระบบสุขภาพ

1

แนวนโยบายที่องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำให้ทุกประเทศต้องทำ คือสร้างการเข้าถึงยาสามัญและชีววัตถุที่มีคุณภาพ โดยใช้มาตรการหรือกฎหมายที่เปิดช่องให้ยาเหล่านี้เข้าสู่ตลาดให้เร็วที่สุด ภายหลังการคิดค้นยาสำเร็จ พร้อมมีระบบการพิจารณาอนุมัติยาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นโยบายอื่นๆที่ควรทำ เช่น การทำระบบเปรียบเทียบราคายาภายในและภายนอกประเทศ เพื่อกำหนดหรือจัดซื้อยาในราคาที่สมเหตุสมผล เพิ่มอำนาจในการต่อรองราคายากับผู้ขายโดยควรพิจารณาข้อมูลราคาจากหลายแหล่ง มีหลักเกณฑ์การพิจารณาราคาที่โปร่งใส

นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้วิธีการเลือกซื้อยา บนฐานการประเมิน “คุณค่า” ของยา หรือ Value-based pricing โดยใช้การประเมินเทคโนโลยีการผลิตยา ความคุ้มค่าทางงบประมาณ และผลกระทบที่ก่อให้เกิดต่อผู้ป่วยและสังคม

การประเมินคุณค่ายาต้องเผยแพร่เป็นรายงานสู่สาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

อีกแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ การสร้างความโปร่งใสด้านราคา ด้วยการขอให้บริษัทผู้ผลิต เปิดเผยข้อมูลการคิดคำนวนราคายาต่อสาธารณะหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของการจัดซื้อยา รัฐบาลควรใช้การจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดประมูล มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ควรพิจารณาราคา ร่วมกับคุณภาพยา ข้อบ่งใช้ อุปทาน และห่วงโซ่การผลิต

การจัดซื้อยาควรทำในรูปแบบของการซื้อรวม เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคา และได้ยาในราคาต่อหน่วยที่ถูกลง

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังเสนอให้ยกเว้นหรือลดภาษีในกลุ่มยาจำเป็น รวมทั้งวัตถุดิบการผลิตยา

การสำรวจประเทศกลุ่มสมาชิกในเอเชียใต้และตะวันออกพบว่า ทุกประเทศใช้นโยบายราคายาอย่างน้อยหนึ่งนโยบาย เพื่อควบคุมราคายาในตลาด และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2

ประเทศกลุ่มสมาชิกมี 11 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล ไทย พม่า อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ และติมอร์เลสเต

นโยบายที่ใช้มากที่สุดคือการจัดซื้อยาด้วยการเปิดประมูล สนับสนุนการใช้ยาสามัญ และยกเว้นภาษีเพื่อให้ยามีราคาต่ำ ประชาชนเข้าถึงได้

1 ใน 3 ของประเทศสมาชิกมีขนาดตลาดยาค่อนข้างเล็ก การต่อรองราคายาจึงทำได้ยากเพราะหน่วยงานไม่สามารถซื้อยาในจำนวนมากได้ ในกรณีนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หน่วยงานรวมกันซื้อยาเป็นล็อตใหญ่

ในส่วนของนโยบายพิจารณาเลือกซื้อยาบนฐานการประเมินคุณค่า พบว่ามีประเทศจำนวนน้อยมากที่ใช้นโยบายนี้ เพราะไม่มีสถาบันทำหน้าที่ประเมินงานด้านนี้โดยเฉพาะ และขาดความรู้เชิงเทคนิค

องค์การอนามัยโลกเสนอแนะให้กลุ่มประเทศสมาชิกประเมินและติดตามการทำนโยบายยา และเพิ่มศักยภาพในการใช้ข้อมูลราคายาให้เกิดประโยชน์ สร้างระบบข้อมูลยาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ รวมทั้งเปิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อยา เพื่อเจรจาราคายาอยางเป็นธรรมและคุ้มค่า

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกควรทำงานร่วมกันในการจัดซื้อยาร่วม และพัฒนาชุดข้อมูลราคายาร่วมกัน เพื่อนำไปใช้เปรียบเทียบและต่อรองการซื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านรายงาน “Pharmaceutical pricing policy, 2022” ฉบับเต็ม