ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ความมั่นคงด้านยาในระบบสุขภาพไทย” เป็นโจทย์สำคัญและประเด็นที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ที่ทุกประเทศต่างพากันช่วงชิงทรัพยากรอย่างถึงที่สุด หนึ่งในจุดชี้ขาดจึงอยู่ที่ศักยภาพของแต่ละประเทศว่า ประเทศใดสามารถ ‘พึ่งพาตัวเอง’ ทางด้านยาได้

สำหรับสถานการณ์ยาของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังอยู่ในจุดที่ ‘ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้’ เท่าที่ควร ซึ่งหากพิจารณา ‘มูลค่าการผลิตในประเทศ’ เทียบเคียงกับ ‘ตัวเลขการนำเข้า’ ยาจากต่างประเทศ พบว่าสัดส่วนอยู่ที่ 33 ต่อ 67 หรือราวๆ หนึ่งเท่าตัว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานการณ์การเข้าถึงยาในภาพรวมที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ‘ยาจำเป็น’ จะพบว่าอยู่ในระดับที่ดี เพราะประเทศไทยมีกลไกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ที่สุดแล้วเราก็ยังพบ “พฤติกรรมการใช้ยาไม่เหมาะสม-ไม่สมเหตุสมผล” อยู่มาก ทั้งในสถานพยาบาล ชุมชน ครัวเรือน ฯลฯ

จากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา จึงควรมองภาพใหญ่ของเรื่องระบบยาที่ครอบคลุม ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพในระดับสากล การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยา สมุนไพร และชีววัตถุเพื่อความมั่นคงทางยาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน การพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยา เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโดยมีงานวิจัยเป็นฐานข้อมูลสำคัญ

1

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และประธานในการจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยา เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบบยาของประเทศและปัจจัยแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางและโจทย์วิจัย รวมทั้งปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัยให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมา สวรส. จะมีบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยในระบบสุขภาพ รวมถึงระบบยามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยระบบวิจัยระบบยามีความซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ตลอดจนมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยและจัดการความรู้ ดังนั้นในการจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยาครั้งนี้ จึงได้ชักชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม ร้านขายยา หรือเอ็นจีโอ เข้ามาช่วยกันคิดและหาข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดการพัฒนาระบบยาของประเทศได้ต่อไป

ทั้งนี้การระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยมีทั้งหมด 5 ด้านที่ครอบคลุมเรื่องระบบยา

  1. การอภิบาลระบบยา ซึ่งเน้นไปที่การออกแบบนโยบาย ยุทธศาสตร์ ระบบ และกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งการประสานความร่วมมือต่างๆ เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมีกรอบและทิศทางงานวิจัย 
  2. บริการหรือปฏิบัติการเกี่ยวกับยา โดยมองถึงความต้องการบริการ ความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของบริการสุขภาพ 
  3. บทบาทของภาคประชาสังคม ในกระบวนการนโยบายด้านยา โดยมองถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคประชาสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่อาจยังขาดการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ 
  4. ระบบยาในภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จากประสบการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อบริการสุขภาพ นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต 
  5. การพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านยา มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางยา สามารถจัดหายาจำเป็นไว้ใช้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่องไม่ขาดแคลน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ 

2

การจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยาในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฉบับเดิมที่สิ้นสุดอายุลง

ภญ.อัญชลี จิตรักนที ผู้อำนวยการกองนโยบายแห่งชาติด้านยา อย. ให้ข้อมูลว่า (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้จะเดินหน้าบน 4 ยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาระบบยาของประเทศ ได้แก่ 1. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา 2. พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ราคายาที่สมเหตุผล ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน 3. พัฒนากลไกสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 4. การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและการพัฒนายา ตลอดจนประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย

โดยในส่วนผลลัพธ์หรือ “ตัวชี้วัด” ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นจากแผนปฏิบัติการฯ นี้ ตัวอย่างเช่น การทำให้ประเทศไทยมีมูลค่ายาส่งออกเพิ่มขึ้น 25% ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดหายาลง 1.5 หมื่นล้านบาท มียานวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 รายการ มีอัตราสำรองของยาจำเป็นที่มีความเสี่ยงขาดแคลน ไม่น้อยกว่า 1 เดือน ประชาชนไทยมีความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อย่างน้อย ร้อยละ 60 รวมไปถึงการมีรหัสยามาตรฐาน และระบบสารสนเทศด้านยาของประเทศ เป็นต้น

3

สำหรับเป้าหมายในการจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยา ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. อธิบายว่า เป็นการ “จัดทำกรอบทิศทาง” และ “จัดลำดับความสำคัญ” ของงานวิจัยด้านระบบยาที่ควรจะเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจากการระดมความคิดเห็นดังกล่าว มีการเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การส่งเสริมอุตสาหกรรมยา มีประเด็นวิจัย อาทิ การทบทวนข้อจำกัด และความไม่สอดคล้องของกฎหมาย/นโยบาย รวมถึงการจัดระบบนิเวศที่สนับสนุนอุตสาหกรรมยา เช่น ยาสามัญ ยาสมุนไพร ยาชีววัตถุที่มีลักษณะคล้ายคลึง ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง การผลิตกำลังคนในระบบยา ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การเข้าถึงยาถ้วนหน้า มีประเด็นวิจัย อาทิ การพัฒนากลไกราคายาสำหรับการเบิกจ่าย  การพัฒนาระบบการจัดการยาในภาวะฉุกเฉิน การศึกษาบทบาทภาคประชาสังคมในกระบวนการนโยบายด้านยา การศึกษาด้านข้อมูลสิทธิบัตร/ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีประเด็นวิจัย อาทิ การพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีการให้ความรอบรู้ด้านยาที่ถูกต้องแม่นยำที่เข้าถึงในแต่ละกลุ่มวัย  การสร้างระบบนิเวศและผู้ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประชาชน เพื่อสนับสนุนความรอบรู้ทางด้านสุขภาพที่นำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทั้งด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน และการบริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 4: การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ มีประเด็นวิจัย คือ จัดทำรหัสยามาตรฐานของประเทศ ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลยาในกระบวนการจัดการการผลิต (ห่วงโซ่อุปทาน) เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ติดตามและประเมินผล

“เป้าหมายภายใต้กรอบนี้ไม่ได้มุ่งให้เป็นโจทย์งานวิจัยของ สวรส. เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นเป้าหมายของเครือข่ายการวิจัยระบบยาของทั้งประเทศที่ควรจะผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงด้านยาและการเข้าถึงยาของคนไทย” ดร.ภญ.นพคุณ ระบุ