ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่ผลงานวิจัยที่น่าสนใจประจำเดือน มี.ค.2566 หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยหัวข้อ "แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาชุมชน" โดยมี ดร.สมหมาย อุดมวิทิต นักวิจัยเครือข่าย สวรส. เป็นหัวหน้าทีมวิจัย

งานวิจัยดังกล่าว ระบุถึงผลสะท้อนจากการแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ผ่านโครงการที่ให้ประชาชนไปรับยาที่ร้านยาชุมชน หรือร้านยาคุณภาพ รวมไปถึงความเห็นของประชาชน ร้านยาถึงประเด็นการให้บริการด้านสุขภาพเพิ่มเติมจากร้านยา

ทั้งนี้ งานวิจัยระบุถึงผลการสำรวจจากการเก็บข้อมูลประชาชน 255 รายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พบว่าส่วนใหญ่สะท้อนถึงการประสบปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล มีจำนวน 84.3% ระบุรอพบแพทย์นาน ขณะที่ 74.1% พบปัญหารอรับยานาน อย่างไรก็ตาม สำหรับพฤติกรรมการใช้บริการร้านยา ส่วนใหญ่จะเลือกไปร้านยาใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน และมักจะไปร้านยา 2-3 เดือนต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรับยาที่ร้านยาชุมชน หรือร้านยาคุณภาพ ประชาชนเกือบ 75% พบว่าอยากเข้าร่วมโครงการเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล แต่การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ค่อนข้างน้อย ทำให้ประชาชนไม่ทราบถึงรายละเอียดของโครงการ

อีกทั้ง หากอยากให้เพิ่มเติมบริการจากร้านยา พบว่า การตรวจคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น เป็นความต้องการของประชาชนมากที่สุด รองลงมาคือ การเติมยาสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการดูแลฉุกเฉินในด้านต่างๆ รวมถึงการฉีดวัคซีน

งานวิจัยยังระบุถึง ผลสำรวจความเห็นจากเภสัชกรร้านยาชุมชน ร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการ 70 ร้าน รวมไปถึงความเห็นจากสภาเภสัชกรรม, สมาคมร้านยาและสมาคมเภสัชกรรมชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ พบว่ามีความเห็นตรงกัน ถึงบริการที่จะให้ร้านยาชุมชน หรือร้านยาคุณภาพได้ดำเนินการเหมือนโรงพยาบาลหากมีการถ่ายโอนบริการ ซึ่งเป็นบริการทั้งหมด 8 ด้าน

ประกอบด้วย 1. การวัดความดัน 2. การวัดระดับน้ำตาลในเลือด 3. การจัดส่งยาถึงบ้าน 4. การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาและดูแลการจัดยาให้เหมาะสมกับคนไข้ 5. การอธิบายผลข้างเคียงของยาและการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของยา 6. การให้คำปรึกษาผ่านอีเมล/โทรศัพท์/ช่องทางอื่นๆ 7. การตรวจคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น และ 8. การเติมยาสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  ขณะที่ความเห็นของร้านยา เห็นตรงกันว่า การถ่ายโอนบริการจากโรงพยาบาลมายังร้านยา จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสประมาณ 822–1,378 บาทต่อวัน หรือ 24,660–41,340 บาทต่อเดือน งานวิจัยให้ความเห็นว่า การขยายบริการด้านยาดังกล่าวก่อนให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสแก่ร้านยา แต่ภาครัฐสามารถสนับสนุนงบประมาณแก่ร้านยาชุมชนที่เข้าร่วมบริการได้ ที่ประมาณ 24,660–41,340 บาทต่อเดือน หรือสนับสนุนค่าเสียเวลาในการให้คำปรึกษาและให้บริการประมาณ 187.50–312.50 บาทต่อคนต่อครั้ง

ทั้งนี้ งานวิจัยยังระบุถึงรูปแบบในการให้บริการร้านยาชุมชน โดยเห็นว่าควรขยายบริการโดยทำหน้าที่เป็น “หน่วยคัดกรองและให้คำปรึกษาเบื้องต้นในการรักษาภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย” โดยการเพิ่มเติมบริการทั้ง 8 บริการไปยังร้านยาชุมชน แต่ควรเน้นบริการที่สำคัญ ได้แก่ การคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น การเติมยาสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาและดูแลการจัดยาให้เหมาะสมกับคนไข้เพิ่มเติม จากบริการเดิมที่ให้บริการอยู่