ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฉมหน้าการให้บริการทางสุขภาพในระดับ ‘ปฐมภูมิ’ ของประเทศไทย กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ภายหลังที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 มีมติเห็นชอบปรับอัตรากำลัง เภสัชกรปฐมภูมิ

จากเดิมสัดส่วน 1 : 30,000 หรือ เภสัชกร 1 คน จะต้องดูแลประชากร 3 หมื่นคน

เพิ่มเป็นสัดส่วน 1 : 10,000 หรือ เภสัชกร 1 คน จะดูแลประชากรเหลือเพียง 1 หมื่นคน เท่านั้น

คำถามคือ การปรับอัตรากำลังในครั้งนี้ จะส่งผลให้ระบบริการปฐมภูมิพลิกโฉมได้อย่างไร !!?

เภสัชกรประจำอยู่แต่ในโรงพยาบาล

ใช่หรือไม่ว่า เวลาเราเจ็บป่วย ไม่ว่าจะปวดหัว เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ฯลฯ มักจะ ‘ซื้อยากินเอง’ หรือไม่ก็เข้าไปรับยาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิของรัฐ คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตามสิทธิการรักษาของตัวเอง

แต่น้อยคนจะรู้ว่า ตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เภสัชกรที่จ่ายยาในสถานพยาบาลปฐมภูมิเหล่านี้มีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ‘ไม่มีการกำหนดอัตรากำลัง’ ที่ชัดเจนและเหมาะสมเอาไว้

นั่นหมายความว่า เภสัชกรที่มามีบทบาทดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับเรา ที่คอยจ่ายยา บอกวิธีใช้ หรือให้ความรู้ต่างๆ ในสถานพยาบาลปฐมภูมิโดยส่วนใหญ่มีหน้าที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นไปตามอัตรากำลังที่กำหนดไว้

ดังนั้น การที่เภสัชกรในส่วนนี้จะดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแค่งานในโรงพยาบาลก็หนักมากแล้ว การจะลงไปในชุมชนเพื่อให้บริการเชิงรุกก็ต้องแบ่งคนไป ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอด้วย

1

สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเกิดปัญหามากมายเกี่ยวกับการใช้ยาในชุมชน เช่น การใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถใช้ยาตามสั่งได้ ยาเหลือใช้ ปัญหายาชุด คนเข้าไม่ถึงยา และอีกต่างๆ มากมาย ซึ่งมีโอกาสทำให้ความเจ็บป่วยของประชาชนยิ่งรุนแรงขึ้น

นำไปสู่การต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล และถ้ามีกรณีแบบนี้มากเข้าก็จะเกิดความแออัดจนโรงพยาบาลไม่สามารถดูแลรักษาประชาชนได้เท่าที่ควร

จนกระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งทำให้การให้บริการปฐมภูมิมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีการกำหนดเรื่องแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวออกมา และได้กระตุ้นให้ สธ. ต้องตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบ ตลอดจนมีนโยบายที่สนับสนุนงานด้านนี้มากขึ้น

รวมไปถึงมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังที่ชัดเจน สำหรับบริการปฐมภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ โดยมีสัดส่วน คือ แพทย์ 1 คนต้องดูแลประชาชน 1 หมื่นคน ใน 1 สถานพยาบาลปฐมภูมิ โดยมีเจ้าหน้าที่อื่นคอยสนับสนุน และเภสัชกร 1 คนต้องดูแลประชาชน 3 หมื่นคน หรือ 3 สถานพยาบาลปฐมภูมิ

แต่จะเห็นได้ว่าสัดส่วนที่เภสัชกรต้องดูแลรักษาประชาชนนั้นดูมากเกินกว่าจะทำให้ทั่วถึงได้ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นแค่การทำให้บทบาทของเภสัชกรมีความเป็นระบบมากขึ้นในการให้บริการปฐมภูมิ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากก่อนหน้านี้เท่าไหร่นัก

“คนหนึ่งดูหน่วยบริการปฐมภูมิ 3 แห่ง ก็ทำได้แค่ดูระบบยาของ รพ.สต. เพราะแต่เดิม รพ.สต. มีปัญหาเรื่องยาเยอะ เช่น การเก็บรักษาไม่ถูกต้อง การใช้เหมาะสม รวมถึงช่วยกระตุ้นการพัฒนาระบบยา ส่วนมากพอมีเภสัชกรแค่คนเดียวส่วนมากก็ทำออกไปเยี่ยมบ้านได้เดือนละครั้ง ซึ่งก็ไม่มีทางที่จะครอบคลุมคน 3 หมื่นคน” รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม บอกกับ “The Coverage”

จุดเปลี่ยนเภสัชกรปฐมภูมิ

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะว่าคณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิ ได้มีมติเห็นชอบปรับอัตรากำลัง “เภสัชกรปฐมภูมิ” จากเดิมเภสัชกร 1 คนดูแลประชากร 3 หมื่นคน เป็น เภสัชกร 1 คนดูแลประชากร 1 หมื่นคน

ภายหลังสภาเภสัชกรรมพยายามผลักดันเรื่องนี้มาอย่างสม่ำเสมอตลอด 5-6 ปี ที่ผ่านมา โดยได้ร่วมกับเครือข่ายและกลุ่มเภสัชกรปฐมภูมิ ซึ่งมีสมาชิกเป็นเภสัชกรทั่วประเทศ  ช่วยกันรวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อหน่วยงานที่ดูแลด้านกำลังคน

เนื่องจากเห็นว่าการดูแลประชาชนที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเภสัชกรสามารถเข้าไปดูแลถึงที่บ้านได้ จะทำให้ควบคุมปัญหาทางสุขภาพได้เกือบทั้งหมด เพราะที่โรงพยาบาลจะดูแลผู้ป่วยเฉพาะตอนเจ็บป่วยและให้ยากลับไปกิน แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจจะไม่ใช้ยาตามนั้นได้เลยก็ได้ เพราะบางคนอ่านไม่ออก หรือยาเยอะ บางทีกินสับสนกินผิดกินถูก แต่ก็ไปรับยาเป็นประจำ ซึ่งทำให้ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วการรักษาได้ผลหรือไม่อย่างไร

ครั้งนี้เราเลยดีใจมากที่คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการปฐมภูมิให้ความสนใจรับฟังข้อมูลของเราและนำไปพิจารณา รวมถึงเห็นตรงกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดบริการที่ดีขึ้น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นรศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ เผย

 

2หลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อว่ามติการปรับอัตรากำลังเภสัชกรปฐมภูมิจะถูกนำไปใช้หรือไม่ เพราะทางสภาเภสชกรรมจะต้องนำมติความเห็นของคณะอนุกรรมการจัดบริการปฐมภูมิไปนำเสนอต่อกองบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการวางแผนกำลังคนด้านสาธาราณสุข (FTE) ในการพิจารณาและปรับอัตรากำลังตามมติดังกล่าว

ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นจริงตามนี้ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ บอกว่า คงต้องมาดูว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะสนับสนุนเภสัชกรจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละปี เพื่อเน้นให้มีการกระจายลงไปทำงานด้านปฐมภูมิให้มากขึ้นตามอัตรากำลังที่ปรับใหม่ โดยปัจจุบัน สธ. อนุมัติรับเภสัชคู่สัญญาจำนวน 350 คนต่อปี ในการกระจายไปยังสถานพยาบาลภาครัฐ

อย่างไรก็ดี อาจประสานกับเภสัชกรในภาคเอกชน หรือร้านยา ซึ่งอยู่ในโครงสร้างเครือข่ายที่กองสนับสนุนบริการปฐมภูมิกำหนดอยู่แล้ว เพื่อดึงเข้ามาช่วยและประสานเป็นเครือข่ายเพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้เช่นกัน

“ทางสภาเภสัชกรรมก็กำลังขับเคลื่อนให้อยู่ เพื่อดึงร้านยาให้เข้ามาร่วมกับโรงพยาบาลในการช่วยให้บริการในระดับปฐมภูมิที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ารัฐจะได้เภสัชกรที่มาทำด้านดูแลรักษาเบื้องต้นเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งด้วย” รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ อธิบายเสริม

ในส่วนภาพอนาคต เภสัชกรปฐมภูมิจะมีบทบาทในการพัฒนาระบบยาในชุมชน แก้ไขปัญหาการใช้ยาในพื้นที่ รวมไปถึงยกระดับบริหารจัดการยาใน รพ.สต. เนื่องจากมีการส่งต่อยาจากโรงพยาบาลแม่ข่ายมากขึ้น เช่น การส่งวัคซีนไปที่ รพ.สต. ในช่วง โควิด-19

นอกจากนี้ จะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงด้วย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศักยภาพของเภสัชกรเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะจะทำให้ได้รู้ถึงปัญหาของแต่ละครัวเรือนในเรื่องยาอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การหาทางออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ที่ถือเป็นงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของเภสัชกรด้วย

“ที่ผ่านมาที่เรามีการให้เภสัชกรทำหน้าที่เหล่านี้แล้วในพื้นที่ พบว่าเราสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาไปได้ประมาณ 2,000 ล้าน จากปัญหายาเกินความจำเป็น มียาเหลือใช้ ยาใช้ไม่ถูกต้อง ยาเสื่อมสภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นถ้าเรามีเภสัชกรไปทำอย่างจริงจังน่าจะยิ่งช่วยประหยัดในส่วนนี้ได้อีกมาก” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว