ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย สสจ.ปทุมธานี ประสานเคสลูกชายเรียกร้องเยียวยากรณีบิดาเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก่อนเป็นข่าว อยู่ระหว่างรอผลชันสูตรประมาณ 1 เดือน มั่นใจได้รับความเป็นธรรม


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยถึงกรณีที่ นายสถาพร ม่วงวัง บุตรชายของผู้เสียชีวิตหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เดินทางเข้าเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ว่ากรณีดังกล่าวได้มีการทราบเรื่องและประสานไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ ทางผู้ร้องได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดการยื่นคำร้อง เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว โดยทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปทุมธานี ได้ทราบเรื่องและประสานกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อส่งชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งยังต้องรอผลประมาณ 1 เดือน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 ก็ได้ประสานแจ้งรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้ร้องได้ทราบอีกครั้งด้วยเช่นกัน

"ทาง นพ.สสจ.ปทุมธานีไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานงานและติดต่อกับญาติไปก่อนที่จะเป็นข่าวเผยแพร่ทางสื่อ แต่เข้าใจว่าญาติของผู้เสียชีวิตไม่มั่นใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร สปสช.จึงขอชี้แจงว่าหลังจากยื่นเรื่องมาแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา จึงขอให้มั่นใจว่าท่านจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในการพิจารณาว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนเท่าใด คณะอนุกรรรมการจะพิจารณาโดยคำนึงถึงความรุนแรงของความเสียหาย และเศรษฐานะของผู้เสียหาย พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด คือ กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาตลอดชีวิต จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท

"เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย นอกจากนี้ในกรณีที่เลขาธิการ สปสช. ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ยังสามารถเสนอให้คณะกรรมการ สปสช. วินิจฉัยอุทธรณ์ได้อีกชั้นหนึ่งด้วย" ทพ.อรรถพร กล่าว

สำหรับผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ หรือโรงพยาบาลที่ให้บริการ โดยสามารถยื่นได้ที่โรงพยาบาลนั้นๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิการรักษา

อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น จะต้องเป็นวัคซีนตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี ซึ่งไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้โดยโรงพยาบาลเอกชนและมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย