ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนภาคประชาชนยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา “ศาลแพ่ง” หลังศาลชั้นต้นตัดสิน “ยกฟ้อง” คดีขอชดใช้เงินค่าจองวัคซีนโควิด-19 คืนจาก สธ. เหตุบริหารผิดพลาด-ปล่อยประชาชนเสียเงินจองวัคซีนทางเลือกเองกว่า 9 ล้านโดส ย้ำกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งสิทธิได้รับการป้องกันโรคติดต่ออันตรายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย-เลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจ


นายรัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ในฐานะผู้ฟ้องคดีต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายรัฐพล เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สธ. ด้วยข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จากการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำให้กับประชาชนจำนวนมาก ทำให้โจทก์ต้องไปซื้อวัคซีนโมเดอร์นาให้กับตัวเองและบุคคลในครอบครัวจากโรงพยาบาลเอกชน โดยขอให้ชดใช้เงินเป็นจำนวน 13,200 บาท

สำหรับคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในการละเมิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการวางหลักการทั่วไปให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ การใดที่จะถือเป็นการละเมิดสิทธิต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทอื่น เนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป

นายรัฐพล เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่าสาเหตุในการยื่นอุทธรณ์นั้น เพราะต้องยืนยันว่าประชาชนมีอำนาจฟ้องและอ้างสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศคุ้มครองไว้ ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงมาตราที่เป็นสาระสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่ระบุถึง “สิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” รวมถึง “ต้องไม่ทำการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าจะด้วยเหตุความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมหรือเหตุอื่นใด”

นายรัฐพล กล่าวว่า ในช่วงของการไต่สวนและสืบพยานนั้น ทางฝ่ายโจทก์ได้มีการนำหลักฐานและข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ ที่ยืนยันได้ว่าผลวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA ได้ออกมาก่อนวัคซีนเชื้อตาย รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้วัคซีนเชื้อตาย ทำให้ผู้ที่ได้รับมีอัตราการตายมากกว่าการได้รับวัคซีน mRNA หากแต่จำเลยกลับไปเลือกจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่ำเข้ามาให้ประชาชน โดยบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด ล่าช้า และจงใจให้ประชาชนไปจองซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิผลมากกว่าเอง โดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำได้

นายรัฐพล ยังกล่าวอีกว่า หลังจากจำเลยปล่อยให้ประชาชนไปจองซื้อวัคซีน mRNA โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองซึ่งอ้างว่าเป็นวัคซีนทางเลือก โดยขณะนั้นก็ไม่เคยสื่อสารกับประชาชนเลยว่าจะมีวัคซีน mRNA เข้ามาฉีดให้ฟรี จนเป็นเหตุให้ประชาชนไปจองซื้อวัคซีน mRNA ทั้งประเทศสูงถึง 9 ล้านโดส การกระทำส่วนนี้จึงผิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ที่ประชาชนมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“อีกประเด็นสำคัญคือจำเลยไปใช้วิธีการให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับ นำวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาก่อนเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายต่อให้โรงพยาบาลเอกชน จากนั้นก็ไปขายทำกำไรเอากับประชาชนในภาวะโรคระบาด ซึ่งทำให้ประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน mRNA ได้ในขณะนั้น จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ และไม่เป็นไปตามหลักการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ผิดตามรัฐธรรมนูญ” นายรัฐพล ระบุ

นายรัฐพล กล่าวด้วยว่า ในกระบวนการขั้นตอนของการอุทธรณ์นั้น หากทางศาลพิจารณารับอุทธรณ์คดี เชื่อว่าน่าจะได้คำพิพากษาออกมาในช่วงหลังกลางปีหน้า ซึ่งหากศาลอุทธรณ์มองว่าประชาชนมีอำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ข้างต้นทั้งหมด อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลักกฎหมายปัจจุบันคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุด แต่ก็จะยังขอฎีกาได้ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายอาจถึงขั้นฎีกาเพื่อให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐานหากเกิดกรณีโรคระบาดครั้งต่อไป

อนึ่ง นอกจากคดีแพ่งนี้แล้ว นายรัฐพล ยังได้ทำการฟ้องคดี สธ. ต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ สธ. ออกประกาศฯ ยกเว้นและไม่ให้การคุ้มครองกับผู้ฉีดวัคซีนทางเลือกเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน หากเกิดอาการแพ้วัคซีนหรือมีอาการไม่พึงประสงค์ จนกระทั่งศาลปกครองกลางได้มีการพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและระงับประกาศฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 จน สธ. ได้มีการแก้ไขประกาศฯ ใหม่ในเวลาถัดมา

1

4

1

1