ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา พญ.เคท โอไบรอัน (Kate O'Brien) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีน และชีวสาร แห่งองค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่ข้อความถึงสาธารณะ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้ร่วมกันออกรายงานความครอบคลุมการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ WHO/UNICEF estimates of national immunization coverage (WUENIC)

รายงานพบว่า บริการฉีดวัคซีนบางประเภทได้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติภายหลังการเกิดโรคระบาดโควิด-19 คาดการณ์ว่ามีเด็กได้รับวัคซีนในปีที่แล้ว เป็นจำนวนมากกว่า 4 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2564 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวนี้ยังไม่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ในทุกบริการฉีดวัคซีน และในทุกกลุ่มอายุ ยังมีเด็กมากกว่า 20 ล้านคนที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งประเภทในปีที่แล้ว และ 14 ล้านคนไม่ได้รับวัคซีนเลย ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่มากกว่าปี 2562 ก่อนที่โรคระบาดจะเกิดขึ้น

ใน 75 ประเทศที่บริการวัคซีนลดลงเพราะโรคระบาด มีเพียง 15 ประเทศที่สามารถฟื้นคืนบริการฉีดวัคซีนได้เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ประเทศที่เหลือยังคงประสบปัญหาบริการฉีดวัคซีนหยุดชะงัก หรือแย่ลงยิ่งกว่าเดิม

พญ.โอไบรอัน ระบุว่า เรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดคือกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยยังไม่มีสัญญาการฟื้นตัวของบริการฉีดวัคซีน โดยความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดยังคงลดลงในปีที่แล้ว 

นั่นสะท้อนความจำเป็นต้องมีปฏิบัติการเร่งด่วยเพื่อฟื้นฟูบริการวัคซีนในประเทศเหล่านี้ เพื่อให้เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงวัคซีน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด 

แม้รายงานจะเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน แต่ก็พอมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่สำคัญในการสู้รบกับโรคมาลาเรีย เนื่องจากมี 12 ประเทศทั่วทวีปแอฟริกาที่เริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียครั้งแรกในปริมาณ 18 ล้านโดสในอีก 2 ปีข้างหน้า วัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียเป็นความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับสุขภาพและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของเด็กทั่วโลก 

ตั้งแต่มีการผลิตวัคซีนในปี 2562 เป็นต้นมา มีเด็กประมาณ 1.6 ล้านคนในประเทศกานา เคนยา และมาลาวี ได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และกาวี (Gavi) เครือข่ายพันธมิตรวัคซีน (Vaccine Alliance) กองทุนโลกต้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) และ โครงการอำนวยความสะดวกจัดซื้อยาระหว่างประเทศ (UNITAID)

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวน่าตื่นเต้นจากการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านวัณโรคในชื่อ M72/AS01E (M72) นำโดยกองทุนเวลล์คัม (Wellcome Trust) และมูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) การทดลองวัคซีนกำลังเข้าสู่การประเมินผลในระยะสุดท้าย โดยการทดลองระยะ 3 จะเริ่มในปี 2567 โดยมีผู้รับการทดลองกว่า 2.6 หมื่นคน ในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อวัณโรคสูงอย่างประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

หากสำเร็จ โลกจะมีวัคซีนต้านวัณโรคเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งศตวรรษที่พบโรคนี้ สามารถปกป้องโรคปอดจากวัณโรคในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้สูงสุดถึง 76 ล้านคน ในอีก 25 ปีข้างหน้า 

3

อย่างไรก็ตาม โอไบรอันให้ความเห็นว่า แม้มีการพัฒนาวัคซีนแล้ว แต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ความสำเร็จในการสร้างโลกที่ปราศจากวัณโรค ต้องอาศัยการลงทุนด้านการพัฒนาวัคซีนเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีวัคซีนทางเลือก และคิดค้นแนวทางกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง

นอกจากผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนแล้ว องค์กรนานาชาติและหน่วยงานต่างๆ ก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดการกระจายวัคซีนถ้วนหน้าเช่นกัน

ในวันที่ 12 ก.ย. นี้ จะมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78 หรือ UN General Assembly (UNGA 78) ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการประชุมวาระสุขภาพในกลุ่มผู้นำระดับสูง 

รวมทั้งวาระการหาแนวทางขจัดวัณโรค สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเสริมความเข้มแข้งของระบบป้องกัน เตรียมพร้อม และตอบสนองต่อโรคระบาด (Pandemic prevention, preparedness, and response หรือ PPR) ทั้งยังมีการหารือเกี่ยวข้องกับการทำโครงการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันโรค

การประชุมในกลุ่มผู้นำระดับสูงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อโลกกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ด้านมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายสร้างความพร้อมรับมือและจัดการโรคระบาดในอนาคต และขจัดโรคเดิม โดยเฉพาะวัณโรค

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกจะจัดการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ตามด้วยการประชุมกลุ่มที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การสร้างภูมิคุ้มกันโรค ในระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย. นี้ 

พญ.โอไบรอันขอให้ทุกคนติดตามการประชุมเหล่านี้ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุม แลฃะจะเห็นความก้าวหน้าและแนวทางการแก้ไขปัญหาบริการฉีดวัคซีนที่หยุดชะงัก และการขยายความครอบคลุมวัคซีนประเภทต่างๆ

อ่านข่าวต้นฉบับ
https://www.who.int/news/item/31-07-2023-message-by-the-director-of-the-department-of-immunization--vaccines-and-biologicals-at-who---july-2023