ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการเตือนสื่อที่ถอดบทเรียนโรคระบาดโควิด-19 ด้วยมุมมองสุดโต่ง และการชี้นิ้วหาแพะรับบาป ซึ่งกำลังบิดเบือนประวัติศาตร์ และกีดกันการส่งต่อประสบการณ์รับมือโรคระบาดสู่อนาคต

แม้ขณะนี้ ยังไม่มีหมุดหมายที่ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในช่วง "หลัง" การระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ก็มีข่าวรายงานถอดบทเรียนจากโรคระบาด เช่น การวิเคราะห์ย้อนหลังถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของมาตรการล็อคดาวน์ในสื่อสัญชาติสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ลูคัส เอนเจลแมน (Lukas Engelmann) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) และ โดรา วาร์กา (Dora Vargha) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน (Humboldt University of Berlin) ระบุว่า รายงานเหล่านี้มีมุมมองค่อนข้างสุดโต่ง และมีปัญหาด้านจริยธรรมและอคติทางการเมือง

ทั้งยังมีการเล่าเรื่องโดยไม่คำนึงถึงบริบทและมีความความคลาดเคลื่อน ทั้งๆ ที่มันเป็นไปได้ยากที่การทำมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 จะสมบูรณ์แบบ เพราะต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านสุขภาพ สังคม จริยธรรม จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์และนโยบายการเมืองในเวลานั้น

เอนเจลแมนและวาร์กา เน้นย้ำว่า การเรียนรู้การตอบสนองต่อโรคระบาดจากชุมชนและรัฐบาลย้อนหลังสำคัญอย่างมาก เพราะการบันทึกแนวทางการเตรียมพร้อมต่อโรคระบาดในอดีต จะสามารถให้บทเรียนในการรับมือโรคระบาดในครั้งหน้า

แต่กระบวนการนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการหาแพะรับบาป เช่น รัฐบาลตำหนิประชาชนที่ไม่รับวัคซีน ประชาชนโทษรัฐว่าทำมาตรการไร้ประสิทธิภาพ โทษมาตรการล็อกดาวน์หรืออุปกรณ์ฉีดวัคซีนที่ไม่ดีพอ

การชี้นิ้วหาคนผิดมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดชุดข้อมูลที่ส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคมและการเมือง ความเหลื่อมล้ำ การขาดงบประมาณ และข้อถกเถียงว่าใครควรได้รับการปกป้องหรือเปราะบางมากที่สุดเมื่อเกิดวิกฤต

และนั่นนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการตอบตอบสนองต่อโรคโควิด-19 อย่างที่โลกเพิ่งประสบไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การเล่าเรื่องที่บิดไปมามีตัวอย่างให้เห็นในช่วงหลังการระบาดของโรคโปลิโอในทศรรษ 2480 และ 2490 ส่งผลต่อภาพจำของสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

เมื่อฮังการีใช้มาตราการให้วัคซีนป้องกันโรคในปี 2501 และได้รับการยกย่องในปีนั้นว่าทำมาตรการป้องกันโรคได้สำเร็จ แต่เมื่อโรคโปลิโอระบาดอีกครั้งในปีต่อมา ฮังการีถูกตราหน้าว่าล้มเหลวในการรับมือโรคระบาดเพราะให้วัคซีน

นอกจากนี้ เมื่อมีการผลิตวัคซีนซาบินซึ่งใช้ในการป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนซอล์ก ซึ่งเป็นวัคซีนแรกของโลกที่ใช้ในการป้องกันโรคโปลิโอในขณะที่เกิดการระบาดครั้งแรก ถูกตีตราว่าเป็นสาเหตุของความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

เมื่อการระบาดของโรคสิ้นสุดในทศวรรษ 2500 สาธารณะเริ่มพูดถึงโรคโปลิโอน้อยลง ทั้งๆที่ยังมีเด็กและผู้ใหญ่อีกจำนวนมากที่เป็นโรคนี้

ในกรณีของเอดส์ ประวัติศาสตร์ถูกเล่าผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านยา ยกให้เป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวที่เข้ามากอบกู้โลกจากการระบาดของโรค แต่นั่นเป็นการเล่าเรื่องที่ไม่ครบองค์ประกอบ เพราะมีบริบทและเหตุการณ์ที่ซับซ้อนกว่านั้นที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมโรค

ในทศวรรษ 2520 ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาวะกลัวและโกรธแค้นที่ฝ่ายการเมืองไม่สนใจการระบาดของเชื้อเอชไอวี นั่นนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยา ซึ่งอนุญาตให้บริษัทยาปล่อยยาในขั้นทดลองสู่ตลาด

บริษัทยาอย่าง Burroughs Wellcome คว้าโอกาสในสถานการณ์นี้ด้วยการปล่อยยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ที่มีประสิทธิภาพครั้งแรก และทำกำไรอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังลบภาพจำที่ว่าภาคประชาสังคมเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้ยาต้านเชื้อไวรัสออกสู่ตลาด

ในสหราชอาณาจักรตอนนี้ นักเขียนจำนวนมากแสดงความเห็นต้านกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายล็อกดาวน์ในระหว่างที่เชื้อโควิด-19 ระบาด พร้อมกล่าวหาว่านโยบายและนักวิชาการสาธารณสุขที่ผลักดันโยบายนี้ว่าละเมิดจริยธรรมและอิสระทางการเมือง แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์เป็นทางเลือกที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดในบริบทตอนนั้น

เอนเจลแมนและวาร์กา สรุปว่า ความเสี่ยงที่แท้จริงคือการหาแพะรับบาป ร่วมกับการหลงลืมอดีต

การบันทึกประวัติศาสตร์เช่นนี้จะกัดกร่อนความร่วมมือในระบบสาธารณสุข ทั้งยังลบเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบและเปราะบางมากที่สุด และผู้ที่ยึดมั่นในหลักการความเท่าเทียมในการตอบสนองต่อโรคระบาด

 

อ่านบทความต้นฉบับ: https://theconversation.com/covid-theres-a-strong-current-of-pandemic-revisionism-in-the-mainstream-media-and-its-dangerous-222934