ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศ.นพ.ยง” แนะประชาชนเว้นช่วงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ระหว่างการฉีด “วัคซีนโควิด-19” กับ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ระบุ ต้องให้ความสำคัญกับวัคซีนโควิดเป็นลำดับแรก


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รณรงค์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยมีแผนจะฉีดระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า โดยทางทฤษฎีแล้ว สามารถให้วัคซีนทั้งสองชนิดนี้พร้อมกันได้ แต่เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงอยากแนะนำให้ประชาชนเว้นระยะเวลาการฉีดของวัคซีนสองชนิดนี้ อย่างน้อย 2 สัปดาห์

“สาเหตุที่แนะนำให้เว้นช่วงฉีด 2 สัปดาห์ ก็เพราะวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ แถมยังใช้ในกรณีเร่งด่วน ถ้าเกิดไปฉีดพร้อมๆ กันแล้วเกิดผลข้างเคียง จะแยกไม่ออกว่าเกิดจากวัคซีนตัวไหน” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ประชาชนได้รับนัดคิวการฉีดวัคซีนพร้อมๆ กัน หรือในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จะต้องมีความสำคัญกับวัคซีนโควิด-19 เป็นลำดับแรก ตัวอย่างเช่นวัคซีนของแอสตร้าเซเนกา ซึ่งจะต้องฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 10 สัปดาห์ ฉะนั้นกรณีนี้ จะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน จากนั้นค่อยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่คั่นกลาง และในอีก 2 สัปดาห์ให้หลัง ค่อยฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สอง แต่หากใครยังไม่ถึงคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ให้ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนได้

"ถ้าได้วัคซีนพร้อมกัน โควิด-19 ต้องเป็น Priority หรือความสำคัญอันดับแรก เราต้องการเร่งให้ได้ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะโควิด-19 เกิดความเสียหายมากกว่า อันตรายมากกว่า ประเทศจะเปิดได้หรือไม่ได้อยู่ที่โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเริ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2564 ส่วนตัวคิดว่า สปสช.เริ่มฉีดช้าไป จริงๆ แล้วควรเริ่มฉีดตั้งแต่ตอนนี้ หรือตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เพราะเมืองไทยจะเริ่มฤดูฝนตั้งแต่ พ.ค. ถ้าฉีดช่วง พ.ค.-ส.ค. พอถึงเดือน ส.ค. ไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดหมดไปแล้ว ดังนั้นถ้าได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก็ควรรีบฉีดให้เร็วที่สุดก่อน