ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สื่อต่างชาติรายงานถึงปรากฏการณ์ของ “กลุ่มอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ” ที่ได้ร้อง “ทวิตเตอร์” ขอให้เซนเซอร์ข้อความเรียกร้องให้บริษัท (ยา) เปิดเผยข้อมูล “สิทธิบัตรวัคซีนโควิด” เพื่อให้โรงงานยาในประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำข้อมูลไปผลิตวัคซีนเอง

อย่างไรก็ดี บริษัทยาดังกล่าว ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา สื่อสัญชาติอเมริกา The Intercept ได้เปิดเผยข้อมูลการโต้ตอบอีเมลระหว่างนักลอบบี้ยิสต์ของทวิตเตอร์ นีน่า โมเชลเซอร์ (Nina Morschhaeuser) กับเพื่อนร่วมงาน ถึงกรณีที่มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้บริษัทยาเผยแพร่ข้อมูลการผลิตวัคซีนโควิดที่จดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว

ข้อความในอีเมลของเธอส่งออกช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ระบุว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยงานรัฐของเยอรมนีว่ามีความกังวลต่อการรณรงค์นี้อย่างมาก โดยมีรายงานการตั้งบัญชีทวิตเตอร์ปลอม เพื่อโจมตีบัญชีทวิตเตอร์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทยา

นอกจากนี้ เธอยังส่งต่ออีเมลจากโฆษกประจำบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิดรายใหญ่ของโลก ระบุว่าขอให้ทวิตเตอร์ปิดการมองเห็นข้อความที่โจมตีบริษัทในช่วงสองวันก่อนที่อีเมลนี้จะถูกส่งหาทวิตเตอร์

โมเชลเซอร์ขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยดูแลบัญชีทวิตเตอร์ของบริษัทยาอื่นๆ ได้แก่ ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดิร์นนา (Moderna) และแอสตราซีนีกา (AstraZeneca)

1

พร้อมขอให้ติดตามแฮชแทคที่เกี่ยวข้อง เช่น #PeoplesVaccine หรือวัคซีนของประชาชน และ #JoinCTAP หรือเข้าร่วมโครงการการเข้าถึงเทคโนโลยีโควิด (Covid-19 Technology Access Pool) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้องค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีน

โดยมีกลุ่มภาคประชาสังคมอย่าง Global Justice Now รณรงค์ให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ลงชื่อเรียกร้องให้บริษัทยาเปิดเผยข้อมูลในสิทธิบัตร

อย่างไรก็ดี The Intercept รายงานว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทวิตเตอร์ทำตามที่บริษัทยาร้องขอหรือไม่ แต่ข้อมูลการโต้ตอบในอีเมลระหว่างพนักงานสะท้อนให้เห็นว่ามีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างเข้มข้น บางส่วนไม่เห็นว่าข้อความของนักเคลื่อนไหวละเมิดนโยบายความปลอดภัยของทวิตเตอร์แต่อย่างใด

อุตสาหกรรมยาและวัคซีนเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคทำรายได้จากการขายวัคซีน mRNA รวมมากกว่า 37,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2564 ขณะที่บริษัทโมเดิร์นนามีรายได้ 17,700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 61,800 ล้านบาท)

จากราคาวัคซีนที่พุงสูงขึ้นและการกระจุกตัวของเจ้าของสิทธิบัตร ทำให้หลายประเทศกักตุนวัคซีนเมื่อสองปีที่แล้ว โดยเฉพาะประเทศร่ำรวยอย่างประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากต้องรอคิวซื้อวัคซีนข้ามปีอย่างเลี่ยงไม่ได้

จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้บริษัทยาเปิดเผยข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน เพื่อกระจายองค์ความรู้ไปยังประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถผลิตวัคซีนได้ทันกับความต้องการ และต่อสู้กับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2

The Intercept เข้าถึงข้อมูลอีเมลการพูดคุยภายในของทวิตเตอร์ ภายหลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารทวิตเตอร์คนใหม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าถึงฐานข้อมูลภายในของทวิตเตอร์บางส่วนในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

สื่อดังกล่าวได้ติดต่อทวิตเตอร์เพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ขณะที่บริษัทไบโอเอ็นเทคให้ความเห็นว่า “บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม และลงทุนในเทคโนโลยีที่ยกระดับสุขภาพของผู้คนโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางรายได้”

ส่วนหน่วยงานด้านความมั่นคงทางข้อมูลของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ติดต่อโมเชลเซอร์เพื่อแจ้งเตือนข้อความด้านการรณรงค์การเข้าถึงวัคซีน ให้สัมภาษณ์ว่า การแจ้งเตือนไม่ได้เน้นที่เนื้อหาการรณรงค์ แต่เน้นข้อความที่เข้าข่ายการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ (Denial-of-service attack) ซึ่งมาพร้อมกับข้อความรณรงค์บางส่วน

แม้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปว่าบริษัทไบโอเอ็นเทคมีอิทธิพลต่อทวิตเตอร์มากค่อยเพียงไร แต่ The Intercept ระบุว่าที่ผ่านมา มีความพยายามของบริษัทยาหลายแห่งในการติดตามและกำกับเนื้อหาบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของงานรณรงค์ภายใต้โครงการ Public Good Projects ทำโดยกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมวัคซีนชื่อว่า Biotechnology Innovation Organization ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทยาข้ามชาติหลายเจ้า

โครงการดังกล่าวติดตามข้อความและเนื้อหาที่โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย โดยพัฒนาบอทที่สามารถตรวจจับเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด และส่งคำร้องไปยังทวิตเตอร์เพื่อขอให้ปิดการมองเห็นเนื้อหานั้นในระหว่างปี 2564 ถึงต้นปี 2565

อย่างไรก็ดี เนื้อหาดังกล่าวมีทั้งที่สร้างความบิดเบือนจริง เช่น การกล่าวหาว่าวัคซีนมีไมโครชิปสำหรับฆ่าคน แต่บางเนื้อหาก็ยังอยู่ในวาระการถกเถียง เช่น ความจำเป็นในการมีเอกสารเดินทางสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น

โจ สไมเซอร์ (Joe Smyser) ผู้บริหารโครงการ Public Good Projects ให้สัมภาษณ์กับ The Intercept ว่าการรณรงค์เกิดขึ้นเพื่อต้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จเท่านั้น และส่งเสริมให้คนไปรับวัคซีนโควิดเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพและระบบสาธารณสุข

The Intercept ยังคงสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป ขณะที่บริษัทยายังให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ใช้อิทธิพลเซนเซอร์เนื้อหาสื่อที่เป็นภัยต่อการทำกำไรของบริษัท

อ่านข่าวต้นฉบับที่:
https://theintercept.com/2023/01/16/twitter-covid-vaccine-pharma/