ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. ระบุ ไทยเดินหน้าแนวทางเดิม ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนภาวะ ‘ลองวัคซีน’ ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันถึงผลกระทบ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงผลกระทบจากการใช้วัคซีนโควิด-19 mRNA หรือภาวะ “ลองวัคซีน” เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ หรืองานวิจัย รวมถึงข้อมูลมายืนยันว่าการรับวัคซีนโควิด -19 จะได้รับอันตราย อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่ได้ระบุถึงการได้รับวัคซีนและจะมีภาวะลองวัคซีน และยังให้ยึดแนวปฏิบัติเดิมกับกลุ่มเสี่ยงเอาไว้ก่อน 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการรับวัคซีน เป็นสิ่งที่สธ. ให้ความสำคัญ และต้องเฝ้าระวัง ที่ผ่านมาก็มีการดูแลอย่างดี และถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการรับวัคซีน แต่อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีผลกระทบ 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่นักวิชาการเรียกร้องให้ สธ. พิจารณาก่อนออกคำแนะนำในการฉีดวัคซีน mRNA เพราะบางประเทศมีการงดฉีดไปแล้วนั้น ก็จะมีการนำมาพิจารณาในส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

"ยังไม่มีหลักฐานอะไรมาบอกได้เลยว่า ต้องหยุดการให้วัคซีน ดังนั้น สธ.ก็ยังยึดเอาแนวทางเดิม คือกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุยังคงควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด - 19 ซึ่ง สธ. จะเร่งประชาสัมพันธ์บอกกล่าวให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้รับวัคซีน โดยจะมีกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ คอยรับผิดชอบ" นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำ

อนึ่ง สำนักข่าวมติชน ออนไลน์ รายงานบทสัมภาษณ์ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ตอนหนึ่งว่า ไม่ได้เป็นการต่อต้านวัคซีนใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการเชิงสร้างสรรค์ให้ประชาชนทราบข้อมูลจริงถึงผลกระทบจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นขณะนี้ ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์เริ่มพบกลุ่มอาการต่างๆ ที่รักษายาก ทั้งหัวจรดเท้า ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้มีโรคประจำตัว เช่น อาการเหนื่อย นอนไม่หลับ สู้งานไม่ได้ ใจเต้นเร็ว ตื่นแล้วหัวใจเต้นเร็ว มีผื่น ผมร่วง เกิดตุ่มตามผิวหนัง นอกจากนั้น ยังพบโรคไม่ค่อยเจอบ่อยในผู้ที่มีอายุน้อย 20-30 ปี เช่น เริม งูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ทั้งหมดนี้ เป็นความผิดปกติจากที่ทางการแพทย์เคยเจอ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังรับวัคซีนนั้น เรียกว่า “ลองวัคซีน” ซึ่งขณะนี้จะพุ่งเป้าไปไปที่วัคซีนชนิด mRNA ที่มีการใช้อนุภาคไขมันเป็นส่วนผสมในวัคซีน โดยทางบริษัทผู้ผลิตแจ้งข้อมูลว่า อนุภาคไขมันดังกล่าวจะอยู่ในกล้ามเนื้อต้นแขนที่ฉีดวัคซีนเพียง 2-3 วัน แต่เมื่อมาดูข้อมูลจริง กลับพบว่า อนุภาคไขมันอยู่ในร่างกายได้เป็นเดือน นอกจากนั้น ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในเซลล์เนื้อเยื่อตามอวัยวะต่างๆ เพื่อรอสร้างโปรตีนหนามขึ้นที่ผิวเซลล์ ทำให้ร่างกายเรามองเห็นไวรัสได้ ซึ่งตรงนี้เองทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเหมือนการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่