ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางเสริมแรงทางบวกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ก่อนถึงช่วงสงกรานต์ ผ่านบทความ สงกรานต์นี้เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงวัย รับลูกหลานที่จะนำพลังชีวิตมาสู่ผู้สูงวัยในชนบท

วันนี้ (20 มี.ค. 2565) ดูข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพบว่าสูงกว่า 2.5 หมื่นคน และมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ลดลงง่ายๆ และคาดว่าในช่วงสงกรานต์รัฐบาลคงจะไม่ปิดกันการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนที่มาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัว รวมถึงมีแนวโน้มจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ เพิ่มขึ้น

ถ้ามาดูจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วพบว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 40, 50 มาเป็น 80 คนแล้วในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีน มีสิทธิที่จะป่วยตายมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนกว่าสิบเท่าของผู้ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม

ที่น่าเป็นห่วงคือ มีผู้สูงอายุมากกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับวัคซีนกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และ กำลังจะมีโอกาสรับเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายกลับไปเยี่ยมบ้านของลูกหลานในช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้

คำถามก็คือเราจะปล่อยให้ผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคนนี้มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ต่อไป หรือรัฐบาลควรดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง 3 สัปดาห์สำคัญก่อนสงกรานต์นี้ หามาตรการที่ได้ผลทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาฉีดวัคซีน ถ้าดีก็ให้ได้ครึ่งหนึ่งหรือ 1 ล้านคนไปเลย คาดว่าน่าจะช่วยชีวิตประชากรรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ของเราได้หลายร้อยคน อาจจะกว่าพันคนถ้าดำเนินการได้รวดเร็วและครอบคลุม

คำถามต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้ท่านผู้สูงวัยล้านคนเปลี่ยนใจมากล้าฉีดวัคซีนเพื่อมุ่งป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วป่วยหนักหรือเสียชีวิต และต้องลงทุนอีกเท่าไรเพื่อให้เกิดการขยับมารับวัคซีนกัน มันจะคุ้มค่ากับงบประมาณและแรงงานที่ต้องสูญเสียหรือไม่

จากการระดมสมองในหมู่แพทย์และผู้บริหารที่ดูแลประชาชนในจังหวัดต่างๆ มีทางออกที่น่าสนใจ 2 ทาง ได้แก่ 1. ต้องเร่งประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อที่ผู้สูงอายุเข้าถึงและชื่นชอบมาช่วยเชิญชวน 2. ต้องหาแรงจูงใจทางการเงินในภาวะที่น้ำมันแพงทำให้ข้าวของต่างๆ แพงกันไปทั่ว

วิธีแรกที่จะทำสื่อสร้างแรงจูงใจนั้นอาจจะใช้งบหลัก 10 ล้าน แต่มาตรการที่สองที่จะใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจนั้น อาจจะต้องลงทุนมาก เพราะมาตรการที่คาดว่าจะได้ผลคือการแจกเงินที่มากพอ (ดูได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้สูงอายุหลายท่านตื้นรู้และพยายามใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชันสำหรับมาตรการคนละครึ่งกันอย่างคึกคัก)

ถ้ารัฐบาลประกาศอัดฉีดกลุ่มสูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนคนละ 1,000 บาทเพื่อที่จะให้มาฉีดวัคซีน งบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 1,000 ล้านบาท (ถ้ามีผู้สูงวัยมาขอฉีดวัคซีน 1 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่างบที่เตรียมไว้อุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ถึงสามเท่า) คาดว่าถ้าผู้สูงวัยกลุ่มนี้กว่าล้านคนได้รับวัคซีนครบถ้วนจะสามารถกดอัตราตายลงให้น้อยกว่าวันละ 50 รายได้

เมื่อผ่านไปอีก 3 - 4 เดือนรัฐบาลอาจจะป้องกันการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงนี้ได้ถึง 1,000 คน ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากที่ลงทุน 1,000 ล้านบาทและสามารถรักษาชีวิตคนได้ 1,000 คน

ผมจึงอยากจะเสนอมาตรการหรือนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลควรต้องเร่งมือทำก่อนสงกรานต์ปี 2565 นี้ คือ

1. เร่งจัดหา จัดทำ สื่อที่จะช่วยจูงใจให้ท่านผู้สูงวัยกลับมาอยากฉีดวัคซีนโควิด-19

2. จัดหาหรือมีมติให้สามารถใช้งบประมาณมาสนับสนุนมาตรการที่จะมอบเงินให้ผู้สูงวัยที่มารับวัคซีนคนละ 1,000 บาท ซึ่งสามารถนำงบประมาณมาจากได้ทั้งส่วนกลาง หรือ ส่วนท้องถิ่น โดยในระดับท้องถิ่นคาดว่างบประมาณของกองทุนสุขภาพท้องถิ่นยังเป็นงบที่สามารถแปลงมาเป็นแรงจูงใจให้กับประชาชนกลุ่มสูงวันในแต่ละท้องถิ่นได้ ถ้ามีแนวนโยบายที่ชัดเจนเป็นแนวทางจากรัฐบาลลงไป

ความเร่งด่วนของเรื่องนี้ทำให้อยากเรียกร้องให้ รัฐบาล หรือ ทาง ศบค. ช่วยพิจารณาตัดสินใจข้อเสนอทั้งสอง ภายในเดือนมีนาคม เพื่อให้มีระยะเวลาเตรียมการ (อย่างรีบเร่ง) ให้ทันกับวันสงกรานต์ที่จะมาในอีกสามสัปดาห์ข้างหน้า ให้ผู้สูงวัยที่ยังลังเลที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้สงกรานต์ที่จะถึงในปี พ.ศ. 2565 นี้เป็นฤกษ์ดีที่จะนำความสุขสดใส นำพลังชีวิตจากลูกหลานไปสู่ผู้สูงวัยทั่วประเทศ