ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ยืนยัน ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกชนิด ส่วนผู้ที่สิ้นสุดการรักษาแล้ว ใช้เกณฑ์เช่นเดียวกับคนปกติได้


รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เกิดอะไรบ้างเมื่อโรคไม่ติดต่อ เผชิญกับการระบาดของโรคติดต่อ” ซึ่งจัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า ผู้ป่วยมะเร็งในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะมะเร็งปอด มีโอกาสในการเกิดอาการรุนแรงของโรคได้มากกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า ส่วนผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้ติดโควิด-19 รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็งก็ได้รับกระทบค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน เช่น ไม่ได้รับการตรวจโดยละเอียด เกิดปัญหาการวินิจฉัยที่ช้า และอาจจะทำให้พบมะเร็งในระยะที่มากขึ้น 

รศ.นพ.เอกภพ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกที่เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดล้นโรงพยาบาล ทำให้ทรัพยากรในโรงพยาบาลลดน้อยลง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการรักษาที่ไม่ดีไม่เหมาะสมได้ แม้กระทั่งผู้ป่วยที่อาการพัฒนาไปไกลจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว แต่ก็ยังสามารถรับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ลดความทรมานลงได้ คนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้การบริการจะทำได้อย่างจำกัด แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่โดยปกติแล้วต้องได้รับเคมีบำบัดก็นับว่ามีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะมีการทดแทนยาเคมีบำบัดบางประการด้วยยาเม็ด ทำให้การรักษาสะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงจากการไปโรงพยาบาล และเว้นช่วงได้นานขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังมีนโยบายในการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน หรือ Home chemotherapy ซึ่งช่วยคนไข้ให้ไม่ต้องใช้เวลาที่โรงพยาบาลนาน เพียงแค่ติดอุปกรณ์ก็สามารถกลับไปรักษาที่บ้านได้

รศ.นพ.เอกภพ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันมะเร็งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่สาเหตุหลักๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งคือบุหรี่ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เมื่อคนอยู่บ้านมากก็มีการสูบบุหรี่มากขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งจากพฤติกรรมนี้ก็มากขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องที่ว่าการอยู่บ้านมากๆ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจากการไม่ได้ขยับร่างกาย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน

สำหรับการคัดกรองมะเร็ง ปัจจุบันมีมะเร็งหลายโรคที่สามารถคัดกรองได้ก่อน และจะพบโรคได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีความเสี่ยงควรได้รับการคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ และถ้าสามารถตรวจพบมะเร็งได้ในระยะแรกๆ ก็จะสามรถมีผลการรักษาที่ดีและมีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งที่ผ่านมามีการคัดกรองกันน้อย และยิ่งเจอเข้ากับการระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบต่อการคัดกรองมากขึ้นไปอีก  

รศ.นพ.เอกภพ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็งว่า โดยปกติแล้วผู้ป่วยมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันต่ำจากการรับยาเคมีบำบัด แต่สามารถฉีดวัคซีนโควิดทุกชนิดในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการรักษาสามารถใช้เกณฑ์ของคนทั่วไปได้เลย

“จะมีข้อพึงระวังอยู่ที่ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา ผู้ที่รับยาเคมีบำบัดนั้นต้องได้รับวัคซีนก่อนการเริ่มเคมีบำบัด หรือทำเคมีบำบัดจบไปแล้วระยะหนึ่ง ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายฟื้นตัวสมบูรณ์ แล้ววัคซีนก็จะมีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถที่จะรับวัคซีนได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน” รศ. นพ.เอกภพ กล่าว

“คนไข้มะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กำลังได้รับการรักษาอยู่ รวมทั้งญาติและผู้ดูแล มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพราะว่าท่านมีความเสี่ยงที่เมื่อติดโรคจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น ต้องช่วยกันดูแล และนอกจากได้รับวัคซีนแล้วก็ห้ามประมาท” รศ.นพ.เอกภพ กล่าว