ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ยืนยัน ผู้ป่วยโรคหัวใจรับวัคซีนโควิด-19 ได้ ระบุ อาการเจ็บหน้าอก-เส้นเลือดหัวใจอุดตัน-กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ได้สัมพันธ์กับวัคซีน เว้นแต่ mRNA แต่โอกาสต่ำมาก


ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เกิดอะไรบ้างเมื่อโรคไม่ติดต่อ เผชิญกับการระบาดของโรคติดต่อ” ซึ่งจัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า โรคหัวใจเป็นโรคไม่ติดต่อที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และต้องได้รับยาต่อเนื่องเป็นประจำ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนไข้ หากแต่สถานพยาบาลและทีมแพทย์พยาบาลก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการระดมความคิดเพื่อออกแบบระบบในการดูแลคนไข้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความแออัดของการสถานพยาบาลในสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการนำระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลเข้ามาช่วยติดตามอาการของผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยด้วยการส่งยาทางไปรษณีย์แทน ส่วนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในสถานพยาบาลจริงๆ ก็จะมีช่องทางเฉพาะไว้ให้

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหัวใจเฉียบพลันก็สามารถรับวัคซีนได้หลังจากหายดีแล้ว กระทั่งผู้ที่มีความดันสูงหรือรับยาป้องกันลิ่มเลือด ก็สามารถรับวัคซีนได้เลย ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

“ปัญหาที่ว่ากันว่า เมื่อรับวัคซีนแล้วเจ็บหน้าอก เส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่จริง แล้วอาการเหล่านั้นไม่ได้สัมพันธ์กับวัคซีน เว้นเพียงวัคซีน mRNA ที่อาจมีความเสี่ยงสัมพันธ์กับอาการข้างต้น แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้นั้นน้อยมาก ฉะนั้นผู้ป่วยไม่ควรกลัวการรับวัคซีนมากเกินไป และทุกคนควรได้รับวัคซีน” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า ขอให้ทุกคนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และทุกคนต้องไม่ใช้ชีวิตอย่างประมาท การดูแลสุขภาพต้องเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย อย่ารอ เพราะโรคนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว การตรวจสุขภาพแบบที่ทำกันทั่วไปไม่สามารถบอกได้ว่าเราป่วยหรือไม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้บางครั้งเกิดความประมาทว่าตนไม่เจ็บป่วย ดังนั้นขอย้ำว่าอย่าประมาทโดยเด็ดขาด

“แม้ว่าทุกวันนี้จะมีกระแสว่าผู้คนในปัจจุบันหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่สุดท้ายตัวเลขทางสถิติก็บ่งชี้ว่าผู้คนกลับเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น ทั้งโรคหัวใจ เบาหวาน หรือความดัน ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ใช่โรคที่จะเกิดขึ้นในทันที แต่เป็นโรคที่เกิดจากการสะสม เรื้อรัง และต่อเนื่อง ใช้เวลาพัฒนามานานก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัย ดังนั้นในช่วงเวลาที่สุขภาพยังดีอยู่ ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว