ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง ผอ.รพ.ศิริราช ชี้ '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ อย่าสนองความอยาก ปชช. แนะควรจำกัดแค่ ‘ปฐมภูมิ’ เหตุ รพ.ตติยภูมิ มีศักยภาพจำกัด - หวั่นกระทบภาพรวมการดูแลรักษาผู้ป่วย


เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเวทีเสวนาในหัวข้อ “30 บาทรักษาทุกที่ Stakeholder Discussion ปัญหา การแก้ไข และความร่วมมือ” ภายใต้การประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ครั้งที่ 83  Theme : We’re Strong Together ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 – 8 มี.ค. 2567 โดยได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ผศ.นพ.สนั่น กล่าวว่า สิ่งที่อยากสื่อสาร คือ วัตถุประสงค์ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นไปเพื่อตอบสนองความจำเป็น หรือ ความอยากของผู้ใช้บริการ ถ้าบอกว่าตอบสนองความจำเป็นของผู้ใช้บริการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีโรงพยาบาลไหนกล้าปฏิเสธว่าจะไม่ให้บริการ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือตอบสนองความอยากของผู้ใช้บริการ และถ้าเป็นแบบนั้น ในฐานะหน่วยบริการบอกเลยว่ารับไม่ไหว แม้แต่ในทางพุทธศาสนาเองก็มีระบุไว้เลยว่าความอยากของคนไม่มีที่สิ้นสุด

1

ผศ.นพ.สนั่น กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา ความสามารถในการให้บริการของโรงพยาบาลอย่างไรก็มีอยู่อย่างจำกัด หน่วยบริการไม่สามารถขยายให้มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ เช่น โรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบันที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำและรถไฟ จะให้ขยายคงไม่ได้ ขณะเดียวกันจำนวนการใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชต่อปีอยู่ที่ 3 ล้านครั้งติดต่อมาหลายปีแล้ว ฝ่ายนโยบายและแผนของโรงพยาบาลอยากให้รับผู้ป่วยเพิ่ม เพราะจะได้มีรายได้เพิ่ม แต่ความสามารถในการบริการไม่สามารถทำได้มากกว่านี้แล้ว

“คำถามคือ capacity ของ primary care ยังเหลือไหม ผมเข้าใจว่ายังเหลือมากมาย ให้ไปที่นั่นได้ไหม ทุติยภูมิยังเหลือไหม บางแห่งคงยังเหลือ บางแห่งคงไม่เหลือแล้ว บางแห่งขยายได้ บางแห่งขยายไม่ได้ ก็ให้เป็นไปตามที่เขาสามารถรับมือได้ได้ไหม ไม่ใช่ไปบอกว่าขอให้รับหมดแบบนั้นคงไม่ไหว” ผศ.นพ.สนั่น กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อมาดูจำนวนทรัพยากรหน่วยบริการที่มีในพื้นที่ กทม. ส่วนที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิมีประมาณ 400 แห่ง แต่มีโรงพยาบาลรับส่งต่อ 40 แห่ง และก็มีหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่อีก 1,200 แห่ง ฉะนั้นถ้าสัดส่วนการใช้บริการมากขึ้นในฝั่งของโรงพยาบาลรับส่งต่อ ศักยภาพในการให้บริการจะต่างกันหลายเท่าตัวเลยกับหน่วยบริการปฐมภูมิ ฉะนั้นคิดว่าควรมีการเพิ่มเงื่อนไขไปในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ว่า ในหน่วยบริการปฐมภูมิ

นอกจากนี้ จะมีอีกเรื่องหนึ่งก็คือค่าใช้จ่ายที่เคยกล่าวไปแล้วว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. นั้นอยู่ที่ 400 บาทต่อการรับบริการหนึ่งครั้ง แต่ถ้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อจะอยู่ที่ 1,500 บาทต่อการรับบริการหนึ่งครั้ง ดังนั้นถ้า สปสช. ส่งเสริมให้ประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิน่าจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า 

“ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามความอยากของผู้ใช้บริการ แล้วมาเกิดการเพิ่มขึ้นของการรับบริการที่หน่วยบริการทุติยภูมิและตติยภูมิขึ้น จะกลายเป็นเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ผมจึงอยากบอกว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ พูดสั้นแค่นั้นแล้วจบไม่ได้ แต่ต้องบอกว่าภายใต้เงื่อนไขอะไร นอกเหนือไปจากปฐมภูมิ (ไม่รวมอุบัติเหตุฉุกเฉิน) ควรมีการส่งต่อทางการแพทย์ ซึ่งคิดยังไงก็อยากให้มีใบสังตัวทางการแพทย์เพื่อมารับบริการที่ทุติยภูมิและตติยภูมิ

2

“ผมมีตัวอย่างมาให้ตอบว่า ถ้ามีผู้ป่วยมารับบริการแล้วให้เลือกว่าควรจะให้การรักษาใครก่อนภายใต้ความสามารถในการให้บริการที่มีจำกัดระหว่าง 1. ผู้ป่วยที่ไม่มีใบนัด ไม่มีใบส่งตัว ไม่เคยรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิมาก่อนแต่มาขอเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราชเลย 2. ผู้ป่วยเดิม ไม่มีใบส่งตัว แต่รักษาที่โรงพยาบาลศิริราชมาแล้ว 3 ปี และ 3. ผู้ป่วยไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิมาแล้ว ใบส่งตัวก็มี ถามว่าจะให้ลำดับความสำคัญในการให้บริการยังไง ผมคิดว่าทุกคนคงจะเห็นตรงกัน” ผศ.นพ.สนั่น ขยายความ

ผศ.นพ.สนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะสื่อสารคือ ตกลงว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะใช้กับบริการรูปแบบแบบไหน เพราะถ้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช 3 วันแล้วส่งต่อกลับให้หน่วยบริการปฐมภูมิดูแลต่อ คงจะพอไหว แต่ถ้ามารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ขอรักษาต่อเนื่องอีก 3 ปี อาจต้องประเมินก่อนว่าการให้การรักษาเกินกว่าศักยภาพของคลินิกหรือไม่ เพราะถ้าไม่เกินอย่างไรก็ต้องส่งกลับ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นคนอื่นๆ มีโอกาสมารับบริการ

“การที่ผมมี slot จำกัดและรับคนที่ไม่จำเป็นเข้ามา เท่ากับผมตัดคนที่มีความจำเป็นไม่ให้ได้รับบริการมันมี side effect มันมี concequence เพราะฉะนั้นต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่าออกนโยบายไปแล้ว 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้วก็บังคับให้สถานพยาบาลต้องบังคับรับทุกคนเข้ามาในระบบ ความจริงคือมันทำไม่ได้” ผศ.นพ.สนั่น ทิ้งท้าย