ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.อนุมัติงบ 3,851.27 ล้านบาท ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 มีมติอนุมัติการดำเนิน “โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็น 1. งบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท 2. ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท 3. งบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท โดยขออนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุน

สำหรับ “โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช” เกิดขึ้นภายหลังคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

พร้อมกันนี้ จะมีการพัฒนาจุดเชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 2 สถานี คือ สถานีศิริราช รถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. และสถานีธนบุรี - ศิริราช รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของ รฟท. และเพิ่มประโยชน์การใช้งานนอกเหนือจากสถานีรถไฟฟ้าด้วยการบริการรักษาพยาบาล เช่น งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน งานบริการตรวจผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องพักค้าง เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทางและลดความแออัดของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลศิริราชด้วยการเป็น One Stop Service และ Best Integrated Care

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ รฟท. ซึ่งต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี - ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย โดยเป็นการเช่าที่ดินของ รฟท. บนพื้นที่ 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) ระยะเวลาเช่า 30 ปี สำหรับลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1.พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2.พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ 3.พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือน รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี

"ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลขนาด 2,100 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านคนต่อปี และบริการผู้ป่วยในเฉลี่ยประมาณ 8.3 หมื่นคนต่อปี ซึ่งการดำเนินการโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราชนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและลดความแออัดในโรงพยาบาลศิริราช อีกทั้ง เป็นการยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขไทย ในรูปแบบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศด้วย" น.ส.รัชดา กล่าว