ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พระสงฆ์ นอกจากจะมีบทบาทการเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ยังมีส่วนพัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม ซึ่งจะขยายผลไปสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน หากแต่ตัวของพระสงฆ์เองกลับเผชิญปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากพฤติกรรมเสี่ยงของตน หรือการขาดความรู้ความเข้าใจต่อการใส่บาตรทำบุญของประชาชน

ปัจจุบันหลายภาคส่วนได้เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของพระสงฆ์ ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน แต่ด้วยการผนวกนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ กำลังจะทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ขยับก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น

The Coverage ได้ร่วมพูดคุยกับ รศ.พญ.อรุโณทัย ศิริอัศวกุล รองหัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่บอกเล่าถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ไปพร้อมกับการให้ความรู้ของประชาชน บนแพลตฟอร์มน่าสนใจที่กำลังจะสามารถนำมาใช้งานกันได้ในอีกไม่ช้า

1

ไม่แปลกใจ หากพระสงฆ์ไทยจะอุดมด้วยโรค

รศ.พญ.อรุโณทัย บอกเล่าว่า การวิจัยสุขภาพของพระสงฆ์ เริ่มต้นจากโครงการ “บางกอกน้อยโมเดล: สุขภาพดี เริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว” ซึ่งเป็นโครงการที่โรงพยาบาลศิริราช เข้าไปทดลองทำการวิจัย และดูแลพระสงฆ์ในชุมชนบางกอกน้อย ซึ่งมีวัดอยู่ทั้งหมด 32 วัด มีพระสงฆ์ที่ยังไม่นับรวมสามเณร และแม่ชี อยู่ประมาณกว่า 500 รูป ซึ่งรูปแบบของการวิจัยได้ทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมือทำการวิจัย พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของพระสงฆ์ผ่านสู่สายตาสาธารณชนมากมาย โดยส่วนใหญ่ระบุไปในทางเดียวกันว่าพระสงฆ์ไทยอุดมไปด้วยโรค หรืออาการเจ็บป่วย อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีข้อมูลและรายงานเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด จึงทำให้หลายคนอาจชาชินและไม่ตกใจ แต่ที่น่าสนใจคือ อาการเจ็บป่วยต่างๆ ของพระสงฆ์มีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาตลอด

รศ.พญ.อรุโณทัย กล่าวว่า เมื่อเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการวางระบบแบบชั่วคราว เป็นโปรแกรมที่นำมาทดลองกับพระสงฆ์ในเขตพื้นที่บางกอกน้อย ตามโมเดล “บางกอกน้อยโมเดล: สุขภาพดี เริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว” เพื่อนิมนต์พระสงฆ์จำนวนกว่า 500 รูปให้เข้ามา “เช็คอัพ” หรือตรวจสุขภาพตัวเอง ก่อนจะขยายผลไปยังเขตข้างเคียงในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลศิริราช ทั้งเขตบางพลัด เขตบางกอกใหญ่ และเขตตลิ่งชัน ผ่านความเห็นชอบและให้การสนับสนุนการทำวิจัยจากพระธรรมวชิมุนี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร

“ผลที่ได้ ไม่ได้เซอร์ไพรส์หรือน่าตกใจ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าจะเจออะไรบ้าง และเจอครบหมดทั้งเบาหวาน ความดัน โรคจากสูงวัย แต่ที่มาให้เห็นมากขึ้นคือพระสงฆ์หลายรูปมีอาการไขมันพอกตับมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชาชนทั่วไปด้วย” รศ.พญ.อรุโณทัย กล่าว

รองหัวหน้าหน่วยวิจัยฯ รายนี้กล่าวด้วยว่า การทำวิจัยจึงวางทิศทางไปสู่การมุ่งเน้นในเรื่องส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ใช่การรักษา เพราะการรักษาพระสงฆ์จะมีระบบที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกแบบเอาไว้ รวมไปถึงยังมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ค่อนข้างจะครอบคลุมแล้ว แต่ประเด็นการส่งเสริมป้องกันโรค พบว่ามีหลายโครงการจากหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มีความชัดเจน โดยเฉพาะกับการตรวจสุขภาพประจำปีของพระสงฆ์ ที่สำคัญอย่างมากสำหรับการวางแผนเพื่อดูแลสุขภาพของพระสงฆ์เอง ที่ยังพบว่ามีอุปสรรคอยู่หลายบริบทด้วยกัน

“พระชั้นผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาในการตรวจสุขภาพ เพราะจะมีลูกศิษย์มานิมนต์ให้ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะลูกศิษย์ก็ห่วงเรื่องสุขภาพ แต่พระสงฆ์ทั่วไป ก็จะไม่ได้มาตรวจด้วยตัวเอง เพราะส่วนใหญ่ท่านเองก็มองว่า การไปรอตรวจสุขภาพกับประชาชน อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม หรือไม่มีใครนิมนต์ให้ไปตรวจ ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากต่อการส่งเสริมสุขภาพ ที่ทุกคนควรจะได้รู้ว่าสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างไร และควรต้องป้องกัน หรือส่งเสริมในด้านใดบ้าง” รศ.พญ.อรุโณทัย กล่าว

เธอยังยกตัวอย่างสุขภาพของคนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป ซึ่งเข้าสู่ช่วงสูงวัย ว่าสิ่งสำคัญคือกล้ามเนื้อที่ต้องสร้างให้แข็งแรง โดยหากเป็นประชาชนทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ไปฟิตเนสได้ แต่หากพระสงฆ์จะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมีข้อกังวลว่าถูกต้องตามกิจของสงฆ์หรือไม่

1

พัฒนาแอปฯ เพื่อพระสงฆ์-คนทั่วไป

รศ.พญ.อรุโณทัย เล่าต่อว่า เมื่อทีมนักวิจัยได้คิดถึงระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเสริมสุขภาพให้กับพระสงฆ์ ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและโลกออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการที่ผู้คนให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพ สังเกตได้จากมีการบันทึกข้อมูลสุขภาพในแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งมีการจัดเก็บเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเฉพาะ โดยบูรณาการทำงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนต้องยอมรับว่ามีความน่าสนใจอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือแอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับผู้ใช้ เพราะจะรู้ถึงความต้องการใช้งานของผู้คนมากกว่าฝ่ายวิชาการ

ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาแอปฯ ขึ้นมาโดยได้รับความร่วมมือจากทีมที่เชี่ยวชาญในด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพจาก ไดเอทซ์ (Dietz.asia) ซึ่งแอปฯ ที่ทำขึ้นมานี้เพื่อทดลองใช้กับพระสงฆ์ โดยจะมีการแจ้งเตือนเพื่อนิมนต์พระสงฆ์ผ่านแอปฯ ในการเข้ามารับการตรวจสุขภาพประจำปี จากนั้นจะมีผลตรวจสุขภาพส่งตรงเข้าแอปฯ เพื่อให้พระสงฆ์ ซึ่งก็คือผู้ใช้งานได้เห็นข้อมูลสุขภาพของตนเอง พร้อมกับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นรูปแบบการให้องค์ความรู้จากชุดข้อมูลที่โรงพยาบาลศิริราชมีอยู่แล้ว เพื่อให้พระสงฆ์ได้ดูแลสุขภาพตนเองเหมือนกับประชาชนทั่วไป

“ในอนาคตอาจเพิ่มฟีเจอร์หรือฟังก์ชันต่างๆ ของพระสงฆ์เข้ามาเพิ่ม เช่น ระบบนิมนต์ตรวจสุขภาพ ที่จะแจ้งเตือนปีละ 1 ครั้ง รวมไปถึงอาจพัฒนาใส่ข้อมูลการใช้ยา หรือโรคประจำตัวของพระสงฆ์แต่ละรูปไว้ด้วย เมื่อไปพบแพทย์จะได้มีข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดเพื่อให้แพทย์ได้รักษาอย่างถูกต้อง ตรงจุด และต่อเนื่อง” รศ.พญ.อรุโณทัย ระบุ

ขณะเดียวกัน ในแอปฯ ดังกล่าว ยังมีฟีเจอร์ของภาคประชาชน ที่จะมีชุดข้อมูลที่เชื่อถือได้จากโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งประชาชนจะได้รับข้อมูลในการถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพแก่พระสงฆ์ รวมถึงการดูแลพระสงฆ์ร่วมกันในชุมชนอย่างมีความเหมาะสมตามคำแนะนำทางการแพทย์ และยังถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยที่สอดรับกับสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ประชาชนต้องรู้ข้อมูลผ่านแอปฯ นี้ด้วย เพราะพระสงฆ์มีข้อจำกัดด้านการดูแลสุขภาพอย่างมาก ทั้งการออกกำลังกาย การฉันอาหาร ซึ่งหากมีข้อมูลในส่วนนี้เข้าไปยังฟีเจอร์สำหรับประชาชน ก็จะได้รับข้อมูลในการดูแลพระสงฆ์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามขณะนี้แอปฯ ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทดลง จึงยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะเปิดตัวให้ทั้งประเทศได้เห็นภายในเดือน ก.พ. 2566

รศ.พญ.อรุโณทัย กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของแอปฯ นี้คือพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 2 แสนรูป โดยเฉพาะกับพระรุ่นใหม่ หรือรุ่นปัจจุบัน และพระสงฆ์ในอนาคต ที่จะเข้ามาทำนุบำรุงศาสนา ในขณะเดียวกันก็จะได้รู้ที่จะดูแลสุขภาพของพระสงฆ์เองด้วย ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพพระสงฆ์รุ่นใหม่ และพระสงฆ์ที่มีอายุในวัยกลางคน หรือเข้าสู่วัยสูงอายุ เพราะต้องรู้จักอาหารที่จะฉัน และต้องมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่กระนั้นประเด็นเรื่องการออกกำลังกาย หรือการขยับร่างกายในที่รโหฐาน ยังคงเป็นเรื่องเปราะบางในพระธรรมวินัย ซึ่งก็ต้องดำเนินการแสวงหาความร่วมมือกันต่อไป

“เราคุยกับ Dietz เช่นกันว่า แอปพลิเคชันนี้จะเป็นเหมือนสมุดพกสุขภาพของพระสงฆ์ ที่จะบันทึกข้อมูลสุขภาพไว้ และเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เหมือนกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่คนทั่วไปใช้กัน ซึ่งพระสงฆ์เองก็มีการใช้อยู่แล้ว และยิ่งเป็นเรื่องของตัวเองก็เป็นปกติที่ทุกคนจะต้องใส่ใจ แอปพลิเคชันนี้ก็จะทำหน้าที่นั้น ซึ่งหากสำเร็จก็จะมีการขยายฟีเจอร์ไปอีก เพื่อเป็นอีกเครื่องมือเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ไทยทั่วประเทศรศ.พญ.อรุโณทัย กล่าว