ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด 'พังงา' เผยรับเคสบัตรทองเพิ่มขึ้น หลังเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เชื่อโครงการปังแน่ ผู้ป่วยจะใช้บริการกายภาพบำบัดจากเอกชนมากขึ้น แถมนักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่สนใจเปิดคลินิกเพื่อรองรับโครงการอีกด้วย


กภ.(นักกายภาพบำบัด) พิศมัย บัวทอง ผู้ประกอบการและเจ้าของพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า หลังจากที่ได้นำคลินิกกายภาพบำบัดของตัวเองเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และเปิดบริการประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ที่เข้ามารับบริการตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า กระแสตอบรับจากประชาชนดีมาก และเริ่มมีจำนวนมารับบริการที่คลินิกมากขึ้น 

ทั้งนี้ จากเดิมก่อนที่จ.พังงา ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ให้ขับเคลื่อนในเฟส 2 ที่คลินิกรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองประมาณ 20 คนต่อเดือน แต่หลังจากต้นเดือนมี.ค.ที่คิกออฟโครงการ จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้นเป็น 30 คนต่อเดือน 

1

ส่วนรูปแบบการให้บริการ จะเริ่มจากโรงพยาบาลพังงา ได้ส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทใน 4 กลุ่มโรคที่จำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัด ประกอบด้วย 1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2. ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) 3. ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) และ 4. ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะมีการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลตะกั่วทุ่ง และโรงพยาบาลท้ายเหมือง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ส่งต่อผู้ป่วยมายังคลินิกที่อยู่ในพื้นที่ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ให้รักษาต่อ 

นอกจากนี้ ในส่วนการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อรับบริการกายภาพบำบัดในโครงการ จะต้องเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่แพทย์จากโรงพยาบาลประเมินแล้วว่ามีค่า Barthel Index ต่ำกว่า 15 ซึ่งสะท้อนได้ว่าไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งการหยิบจับ การกินอาหารด้วยตัวเอง การเดินเหินที่ไม่สะดวก หรือไม่สามารถทำได้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดสะโพก ผู้ป่วยสโตรกที่มีอาการเส้นเลือด ตีบ แตก ตัน หรือผู้ป่วยที่ติดเตียง ก็จะถูกส่งต่อการรักษาด้วยกายภาพบำบัดให้กับคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อบำบัดฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติเหมือนเดิม 

กภ.พิศมัย กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่ต้องได้รับกายภาพทั้งหมดในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ทางคลินิกจะออกไปให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมการรักษาที่ตรงตามเงื่อนไขของสภาวิชาชีพกายภาพบำบัด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ โดยจะมีทั้งบริการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า รวมไปถึงใช้อุปกรณ์ช่วยทางกายเพื่อให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูตามขั้นตอน อาทิ ถุงทราย อุปกรณ์หยิบจับเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน เป็นต้น 

2

"เรามุ่งเน้นกายภาพบำบัดผู้ป่วยที่ติดเตียง ตั้งแต่ให้ลุกขึ้นนั่งได้เอง เมื่อลุกนั่งได้แล้วก็จะบำบัดให้สามารถยืนได้ และนำไปสู่การเดินได้ ซึ่งที่ผ่านมา ที่คลินิกก็ได้เข้าไปช่วยคนไข้หลายรายได้กลับมาเดินได้ รวมถึงได้ใช้ชีวิตปกติ" เจ้าของพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด กล่าว 

กภ.พิศมัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นจากโครงการ ทำให้คลินิกต้องปรับแผนการออกไปพื้นที่เพื่อให้บริการ โดยจัดกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อออกไปให้บริการ เพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุมและทุกคน อีกทั้งยังทำให้ง่ายต่อนักกายภาพบำบัดของคลินิกที่ต้องไปให้บริการ 
    
"ในส่วนการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการจาก สปสช. ก็จ่ายค่าบริการให้ครั้งละ 450 บาท และมีค่าเดินทางอีก 200 บาทต่อการออกไปให้บริการ 1 ครั้ง ผลพบว่ายังไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายที่ล่าช้า และสปสช. ก็ทำการเบิกจ่ายให้ตามที่ตกลงกันคือภายใน 3 วัน" กภ.พิสมัย กล่าว 
    
กภ.พิศมัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดอยู่ 9 แห่งทั่วทั้งจ.พังงา และขณะนี้มี 5 แห่งที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ กระจายไปหลายอำเภอ และคาดว่าจะเข้าร่วมมากขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยสิทธบัตรทอง 30 บาทที่ต้องได้รับการดูแล 
    
"อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคาดว่าเมื่อดำเนินโครงการไปได้สักระยะ และทำให้ประชาชนเป็นที่รับรู้เกี่ยวกับโครงการมากขึ้น ก็อาจทำให้ประชาชนเลือกเข้ามารับบริการกับคลินิกกายภาพบำบัดมากขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีคลินิกของเอกชนที่รองรับเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบัน นักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ๆ ก็สนใจจะเปิดคลินิกของตัวเองเพื่อรองรับโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ หลังจากได้เห็นตัวอย่างที่มีหลายคลินิกเข้าร่วมและได้ประโยชน์จากโครงการ" เจ้าของพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด จ.พังงา กล่าวทิ้งท้าย