ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-ยธ.-สปสช.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมเปิด "บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง" ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ นำรถทำฟันให้บริการแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำนราธิวาส


ศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกูเฮง ยาวอฮะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมพิธีเปิดโครงการ “บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. ในการจัดรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการด้านทันตกรรมแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ และเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดนำร่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

1

ศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และได้ยกระดับเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ถือเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยความยึดถือคุณค่าของมนุษยธรรมและความเท่าเทียมในสุขภาพ ลบล้างข้อจำกัดของพื้นที่และสถานะทางสังคม ขณะที่ผู้ต้องขังเอง แม้จะมีสถานะเป็นผู้ต้องขังแต่ก็เป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับความคุ้มครองดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการสุขภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

โดยเฉพาะด้านทันตกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม สธ.จึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย quick win 13 ข้อ ในข้อแรกคือการส่งเสริมโครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ที่ สธ. จะได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพแก่ผู้ต้องขังเหล่านี้ 

"บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง เป็นตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมว่ารัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ก็พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่" ศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

ด้าน นายกูเฮง กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีนโยบายในการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำภายใต้ “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างคุณภาพและมาตรฐาน เท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังจำนวน 143 แห่ง มีผู้ต้องขังในเรือนจำ 280,835 คน ขณะที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสนี้ มีผู้ต้องขังจำนวนทั้งสิ้น 3,060 คน เป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 2,541 และผู้ต้องขังหญิงจำนวน 519 คน

2

"บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ แล้วยังเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพช่องปากให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ”นายกูเฮง กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกขั้นของการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ต้องขังมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพโดยเฉพาะด้านทันตกรรม ทำให้มีปัญหาปวดฟันและกระทบต่อสุขภาพโดยรวม โครงการนี้จึงได้จัดบริการเชิงรุกนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการแก่ผู้ต้องขังถึงในเรือนจำ

ในส่วนของผู้ต้องขังที่มีสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการ 6 รายการ ได้แก่ ตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ขูดหินปูน อุดฟัน และ ถอนฟัน ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองก็จะได้รับบริการการให้คำปรึกษา เคลือบหลุมร่องฟัน และบริการเคลือบฟลูออไรด์ชนิดเข้มข้นสูงเฉพาะที่ กรณีที่เป็นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับบริการบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน และบริการขัดทำความสะอาดฟัน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปทุกสิทธิการรักษา จะได้รับบริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก

อนึ่ง ปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังเรือนจำนราธิวาส 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. โรคระบบทางเดินหายใจ 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคผิวหนัง 4. ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และ 5. ปัญหาสุขภาพในช่องปาก ซึ่งการจัดรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการแก่ผู้ต้องขังเรือนจำนราธิวาสในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. - 27 มี.ค. 2567 โดยมีผู้ต้องขังเข้ารับบริการทั้งสิ้น 2,917 คน

3