ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘กทม. – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่’ ลงนาม MOU พัฒนาระบบเชื่อมข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกเข้าถึงบริการสุขภาพคนกรุง รองรับ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ 1 พ.ค. นี้ เริ่มนำร่องเชื่อมข้อมูล ‘โรงพยาบาล-ร้านยา-คลินิก’ โซน 3


เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: HIE) ระหว่าง กทม. และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนำระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาใช้ในพื้นที่นำร่องภายใน 1 พ.ค. 2567 และขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพ โดยมี รศ.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ BDI, พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. รวมถึงผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

รศ.ทวิดา กล่าวว่า กทม. พยายามที่จะทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประชาชน อยู่ที่ตัวประชาชนจริงๆ ไม่ว่าประชาชนจะไปรักษาพยาบาลที่ใด ทั้งโรงพยาบาลหรือระดับปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน รวมถึงร้านขายยา หน่วยบริการจะสามารถเห็นข้อมูลประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน

ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างเป็นทางการมากขึ้น ซึ่งความเป็นทางการของการเชื่อมโยงข้อมูลมีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงการรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และทำให้ประชาชนรู้สึกวุ่นวายใจน้อยลงเมื่อต้องไปรักษาพยาบาลตามหน่วยบริการต่างๆ

ทั้งนี้ กทม. จะเปิดใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาพยาบาลนี้ในพื้นที่นำร่องโซนสุขภาพ 3 ของ กทม. ซึ่งมีหน่วยบริการประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยหวังว่าระบบนี้จะตอบสนองการให้บริการภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี

“สำหรับหน่วยบริการที่จะสามารถเห็นข้อมูลการรักษาพยาบาลของประชาชนได้นั้น ต้องเป็นหน่วยที่เข้าร่วมโครงการนี้ ต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เราทราบว่ามีหน่วยใดกำลังเชื่อมอยู่กับเราบ้าง เพื่อความปลอดภัยและการรักษาข้อมูลของประชาชน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่ผู้ใดผู้หนึ่ง ข้อมูลจะอยู่ที่หน่วยตรวจเบื้องต้นแล้วจึงมาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านช่องทางของ BDI ซึ่งเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลขอให้มั่นใจได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยหลังจากเปิดใช้ในพื้นที่นำร่องแล้ว ก็มุ่งหวังว่าจะขยายให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพทั้ง กทม. ภายในกลางปีนี้” รศ.ทวิดา กล่าว

ด้าน นพ.ธนกฤต จินตวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ BDI กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับ กทม. จะมุ่งเน้นประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาที่ครอบคลุมทุกที่ โดยที่แพทย์สามารถรับรู้ประวัติการรักษาได้ทันที เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและถูกต้อง โดยจะใช้ในโรงพยาบาล และคลินิกที่อยู่ในโครงการ

“ในส่วนการทำการวิเคราะห์ข้อมูล เราได้ร่วมมือกับ สปสช. ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารใช้ในการบริหารจัดการในการเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชาชนใน กทม. โดยหลังจากดำเนินการในโซนสุขภาพ 3 และขยายครอบคลุมทั้ง 7 โซนสุขภาพแล้ว ก็จะเป็นต้นแบบใช้ทั่วประเทศต่อไป สำหรับความปลอดภัยทางข้อมูล ผู้เข้าใช้บริการต้องมีการอนุญาตและยืนยันตัวตนในการใช้ข้อมูลก่อน ซึ่งบุคคลที่จะเข้าถึงข้อมูลได้มีเพียงแพทย์ หรือเภสัชกร มีการแยกข้อมูลการรักษาและข้อมูลส่วนตัว และเราใช้คลาวด์กลางของรัฐบาลจึงมั่นใจว่าการเก็บรักษาข้อมูลได้ตามมาตรฐานอย่างแน่นอน” นายธนกฤต กล่าว

อนึ่ง การร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยบริการทุกระดับสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล การติดตามอาการ ลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายยา การส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการสุขภาพเขตสุขภาพ กทม. (Bangkok Health Zoning) ซึ่งแบ่งการให้บริการทั้งหมด 7 เขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงระดับเส้นเลือดฝอยตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เรื่องสุขภาพดี ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.