ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า – เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ – สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม’ ยื่นข้อเสนอถึง ‘หมอชลน่าน’ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อ ‘ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า’


เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวัฎจักรของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีคนอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก คือ 1. คนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนอาการปรากฏแล้ว และไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล 2. คนที่รู้ตัวว่าป่วย แต่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และ 3. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ระหว่างการรักษาและทุกข์อยู่กับระบบสุขภาพ อย่างเดียวดาย 

ทั้งนี้ ช่วงหลายปีนี้ มีผู้บริโภค หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและญาติผู้ป่วย ร้องเรียนและโทรศัพท์ปรึกษาปัญหาการใช้บริการการรักษาในระบบสุขภาพหลายราย จึงริเริ่มโครงการวิจัย “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความทุกข์ระดับบุคคล เพื่อจัดทำข้อเสนอ นโยบายเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ในปี 2566 ซึ่งผลการวิจัยพบ ว่าปัญหาการส่งต่อในทุกระบบหลักประกันสุขภาพไม่เอื้อกับผู้ป่วย ขาดแคลนยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและราคาแพง ยาบางรายการไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 

ทำให้ผู้บริการอ้างเก็บเงินส่วนต่างจากผู้ป่วย เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนผู้ป่วยบางรายต้องหยุดยาเอง หยุดการรักษา และกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตบำบัดทำให้การเข้าถึง ส่งต่อ รอคิวการรักษาเป็นเวลานาน ขาดทางเลือกในการรักษา เป็นอาทิ

โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งกลุ่มเสี่ยงของความเจ็บป่วยปรากฏในวัยแรงงาน ผู้สูงอายุจำนวนมาก ทั้งมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยจะมีอายุน้อยลง และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 

ดังนั้น กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) จึงมีข้อเสนอ นโยบายสาธารณะเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้าในระบบบริการสุขภาพ โดยหลักการการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย ดังนี้ 1. ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เพิ่มยาต้านเศร้าและยาจิตเวช” อาทิ Olanzapine, indication, Aripiprazole, Venlafaxine และ Long acting Methylphenidate ซึ่งเป็นยาสำคัญ จำเป็นต่อผู้ป่วย และดีกว่ายาที่มีในระบบขณะนี้ ตามคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

เพื่อต่อรองราคายาให้ถูกลง นำไปสู่การทำระบบเบิกจ่ายยา ส่งยาตรงไปถึงโรงพยาบาล คลินิคจิตเวช และร้านยาทั่วประเทศ และเร่งแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่ายาส่วนต่างจากผู้ป่วย รวมทั้งผลักดันยาดังกล่าวให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสุขภาพโดยรวม

2. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่ไหนก็ได้: ภายใต้นโยบายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และมติคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งจะเริ่มในปี 2567 ควรครอบคลุมโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงบริการ และการส่งต่อข้ามเครือข่าย 

ทั้งนี้ ควรมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในระบบสุขภาพ และในเขตเมือง เพื่อให้การรักษา ติดตาม อาการ จนอาการดีขึ้น และหายป่วย โดยไม่ต้องรอใบส่งต่อเป็นครั้ง ๆ จากหน่วยบริการเจ้าของสิทธิ

3. ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ พัฒนาระบบ ส่งเสริมผู้ป่วยซึมเศร้าและจิตเวชเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินส่วนต่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพใจควบคู่กับการใช้ยา และเตรียมพร้อมคืนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy-CBT) เป็นต้น

4. สปสช. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ให้เป็น “หน่วยแรกรับและสายปรึกษาสุขภาพจิตครบวงจร” ทำงานเชิงรุกรับฟัง ให้คำปรึกษา ติดามประเมินภาวะอาการของโรค และสามารถส่งต่อหน่วยบริการให้ผู้ใช้บริการได้ เพื่อช่วยลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุจากโรคจิตเวชให้ลดลง ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้าจำนวนมากกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

5. การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องในทุกระบบหลักประกันสุขภาพต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน จึงเสนอให้ สปสช. เป็นองค์กรกลางจัดประชุมทุกกองทุนสุขภาพ (กองทุนประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นต้น) เพื่อวางแนวทางให้กองทุนต่าง ๆ ให้บริการได้ตามสิทธิประโยชน์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน

6. พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง หลังจากมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” แล้ว ควรมีการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง (Guideline for Depressive disorders) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในโรงพยาบาลทุกระดับมั่นใจในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า และสามารถรักษาด้วยยาต้านเศร้าเบื้องต้นได้ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพในการทบทวน “แนวทางการจัดการตาม ระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย”

เพื่อใช้ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิต การให้สุขภาพจิตศึกษา และการรณรงค์ทางสังคม การให้คำปรึกษา การดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจ การรักษาส่งต่อทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิที่เคยจัดทำไว้ ร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง

7. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาการขึ้นทะเบียนยาต้านซึมเศร้าที่ได้มาตรฐาน เฝ้าระวังเรื่องคุณภาพยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และติดตามการใช้ยาไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้สั่งจ่ายยาเกิดความมั่นใจในยาชื่อสามัญเพื่อการเข้าถึงยาได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนายานวัตกรรม ยาทางเลือกเพื่อประโยชน์ต่อผู้ต้องการใช้วิธีการรักษาที่ครอบคลุมและได้มาตรฐาน