ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เชียงใหม่ ในฐานะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันเป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อน ตั้งแต่พื้นที่ของเมืองศิวิไลซ์ ไปจนถึงยอดดอยป่าเขาอันห่างไกล กลายเป็นความหลากหลายอันน่าหลงใหลให้ผู้คนเข้ามาสัมผัส แต่ในฐานะของประชาชนผู้อยู่อาศัยที่นี่แล้ว สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรคหลักต่อการเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อชีวิตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็น “ระบบบริการสุขภาพ” ที่ส่งผลโดยตรงกับชีวิตของผู้คน เมื่อความห่างไกลและยากลำบากในการเดินทางระหว่างพื้นที่ กลายเป็นปมปัญหาต่อการรักษาพยาบาล จึงยิ่งเป็นความสำคัญให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตในพื้นที่นี้

The Coverage ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน รองคณบดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ถึงภาพอนาคตของระบบบริการสุขภาพใน จ.เชียงใหม่ ว่าเป้าหมายของการนำ Telemedicine เข้ามาใช้ จะเดินหน้าและช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงไปได้ในทิศทางใด

1

การแพทย์ทางไกล ด้วยโครงสร้าง 5G

ผศ.นพ.กฤษณ์ เริ่มต้นอธิบายว่าโครงการ Telemedicine ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นี้เป็นความร่วมมือของ คณะแพทยศาสตร์ มช. ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ภายใต้การสนับสนุนนี้จะประกอบด้วย 2 โครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน และโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) จังหวัดเชียงใหม่ หรือโครงการ 5G Smart Health

รองคณบดีรายนี้ อธิบายว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น และโครงการที่ มช. กำลังเดินหน้าอยู่นี้ก็จะช่วยตอบยุทธศาสตร์ของชาติ ในการใช้เทคโนโลยี 5G มาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งหากสำเร็จก็จะสามารถเป็นตัวอย่างในการสร้างระบบสาธารณสุขด้าน Telemedicine Platform ให้กับพื้นที่จังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ต่อไปได้

แน่นอนว่าแรงกระตุ้นสำคัญมาจากภาพสถานการณ์ จ.เชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือโดยรวม ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือการเป็นภูเขาสูงชัน ส่งผลให้การเดินทางยากลำบาก แม้ระยะทางไม่ไกลมากก็อาจใช้เวลาเดินทางยาวนานเพราะเส้นทางที่คดเคี้ยว

ในขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วย 1 รายไม่ได้เดินทางมารับบริการคนเดียว แต่ยังตามมาด้วยครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ที่อาจต้องหยุดงานหรือขาดรายได้เพื่อพาผู้ป่วยมาด้วย จึงกลายเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่เข้ารับบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย หรือไม่ได้ทำการรักษาต่อเนื่อง

ดังนั้นคำตอบสำคัญจึงหนีไม่พ้นระบบ Telemedicine ที่จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบระบบบริการสุขภาพในพื้นที่

ผศ.นพ.กฤษณ์ วิเคราะห์ว่า ในประเทศไทยหากจะทำระบบ Telemedicine ให้สมบูรณ์แบบ จำเป็นจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน 2 สังกัดหลัก ด้านหนึ่งคือโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนอีกด้านหนึ่งคือโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนแพทย์

“ถ้าโรงพยาบาลยังแยกกันทำงานตามสังกัด ไม่ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกัน ระบบ Telemedicine ในประเทศไทยก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างครบวงจร ซึ่งภาพนี้เหมือนกันในทุกจังหวัด ทุกเขตสุขภาพ ดังนั้นในส่วนของความร่วมมือที่ มช. กำลังพยายามทำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นี้ อย่างน้อยเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าการออกแบบระบบที่สำเร็จจะส่งผลออกมาเป็นแบบใด” ผศ.นพ.กฤษณ์ ยืนยัน

ผสาน 2 ผู้เล่นหลัก สธ. โรงเรียนแพทย์

รองคณบดีรายนี้อธิบายต่อถึงรายละเอียด โดยให้ตัวอย่างถึงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ซึ่งมีระยะการเดินทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 3 ชั่วโมง โดยปกติผู้ป่วยในพื้นที่จะไปเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา (โรงพยาบาลแม่แจ่ม) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิสังกัด สธ.

อย่างไรก็ตาม หากเคสผู้ป่วยรายนั้นมีความจำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลนครพิงค์ ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัด สธ. หรือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) ที่เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มช. เดิมผู้ป่วยอาจต้องเดินทางเข้าไปยังตัวเมือง แต่หากมีระบบ Telemedicine เกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลาเดินทาง

“Telemedicine ที่เราพัฒนานอกจากจะเป็นการดูแลคนไข้ทางไกลแล้ว ยังเป็นการปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ด้วยกันเองด้วย เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้สามารถทำ Telemedicine เชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด หรือในทำนองเดียวกันหากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ของจังหวัด ติดภารกิจเดินทางไปที่อื่น ทางโรงพยาบาลก็สามารถ Telemedicine กับแพทย์รายนั้นได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม”

นอกจากนี้ระบบยังสามารถใช้ในกระบวนการสั่งยา เช่น หากผู้ป่วยของ รพ.แม่แจ่ม จำเป็นต้องใช้ยาที่ไม่มีในโรงพยาบาล ก็อาจสามารถรับจากทาง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้แทน โดยที่ทางโรงพยาบาลจะจัดส่งให้ผู้ป่วยผ่านทางไปรษณีย์ไปให้ถึงที่บ้านได้ทันที

สำหรับตัวระบบที่จะใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ หรือระหว่างแพทย์ด้วยกันเองนี้ ผศ.นพ.กฤษณ์ อธิบายว่าจะเป็นในลักษณะโปรแกรมสนทนา คล้ายกับแอปพลิเคชันไลน์ แต่จะเป็นแอปพลิเคชันใหม่ที่ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. กำลังพัฒนาขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถวิดีโอคอลหาแพทย์มาจากที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือสามารถใช้ในการทำนัด รวมถึงใช้ในการติดตามผลการรักษาได้ด้วยเช่นกัน

ในอีกส่วนคือการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายสัญญาณ 5G โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาลอัจฉริยะ (AR technology with Smart ambulance) ทำให้ทีมรถฉุกเฉินที่ลงไปพบผู้ป่วยยังจุดเกิดเหตุ สามารถส่งภาพเหตุการณ์มาถึงทีมแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เพื่อให้คำปรึกษาถึงกระบวนการรักษาในเบื้องต้นได้

“สมมติหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รถฉุกเฉินที่วิ่งออกไปจะมีแว่นที่ต่อกับสัญญาณ 5G เพื่อทำ Telemedicine มาที่ห้องฉุกเฉิน แปลว่าทีมที่ออกไปเห็นคนไข้ในจุดนั้นเป็นอย่างไร ทีมหมอที่ห้องฉุกเฉินก็จะเห็นเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ในวินาทีนั้นเลยว่า โรงพยาบาลไหนพร้อมที่จะรับตัวคนไข้ แทนที่จากเดิมคนไข้ต้องวิ่งไปถึงห้องฉุกเฉินก่อน ถึงจะรู้ว่าโรงพยาบาลพร้อมหรือไม่พร้อม” ผศ.นพ.กฤษณ์ อธิบายเพิ่มเติม

เขาขยายความต่อว่า นอกจากส่วนของรถฉุกเฉินแล้ว โดยปกติในการลงไปเยี่ยมผู้ป่วยตามชุมชนของทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หากแพทย์เฉพาะทางไม่ได้ออกไปด้วย เมื่อมีอะไรสงสัยก็อาจปรึกษาไม่ได้ แต่หลังจากนี้เมื่อมีการนำในส่วนของแอปพลิเคชันติดตัวออกไป ทางทีมเยี่ยมบ้านก็สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้ทันที รวมไปถึงการปรึกษา หรืออาจสั่งยาที่จะส่งไปรษณีย์ตามไปให้ผู้ป่วยที่บ้านได้ต่อไป

2

ปัจจัยความสำเร็จ จากสัมพันธภาพของแพทย์

ผศ.นพ.กฤษณ์ มองว่า หนึ่งในปัจจัยที่เป็นจุดเด่นของ จ.เชียงใหม่ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาระบบ Telemedicine กำลังเกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมและเข้มแข็ง เป็นเพราะ “ความสัมพันธ์” ของอาจารย์และทีมแพทย์แต่ละโรงพยาบาลในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ที่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงทำให้ความร่วมมือต่างๆ เดินหน้าได้รวดเร็ว

ขณะเดียวกันคือระบบของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนใช้ระบบดิจิทัลในการทำงาน ทำให้ระบบ Telemedicine ที่กำลังพัฒนา เมื่อเสร็จแล้วจะสามารถนำมาประกอบร่างกันได้ทันที เช่นเดียวกับระบบข้อมูลหลังบ้าน ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในจังหวัดก็มีการเชื่อมด้วยกันอยู่แล้ว จึงทำให้การขยับเข้าสู่ระบบ Telemedicine จะสามารถทำได้ในเวลาไม่นาน

“ขณะนี้เรามีความพร้อมของบุคลากรแล้ว ข้อมูลมีการเชื่อมแล้ว ส่วนความพร้อมของสัญญาณ 5G ก็มีแล้วในพื้นที่ 15 โรงพยาบาลเริ่มต้น ยังรอการพัฒนาซอฟท์แวร์ของ Telemedicine ซึ่งคาดว่าอีกราว 3-4 เดือนน่าจะเสร็จ จึงคิดว่าเราน่าจะเริ่มทดสอบระบบได้ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยก่อน และถัดไปในเดือน ก.ค. ก็น่าจะขยายผลทดสอบได้ใน 15 อำเภอแรกของจังหวัด” รองคณบดีรายนี้ให้แผนการ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพัฒนาระบบ Telemedicine ที่จะต้องเชื่อมต่อกันได้ในทุกโรงพยาบาล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความยืดหยุ่น โดยอาศัยความชำนาญของผู้พัฒนาโปรแกรมที่เป็นมืออาชีพและเคยวางระบบสำเร็จมาแล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้เลือกทาง ไดเอทซ์ (Dietz.asia) ซึ่งมีประสบการณ์ด้าน Telemedicine โดยตรง เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนี้

“แพลทฟอร์มที่ทางคณะออกแบบไว้จะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถเชื่อมกับผู้ให้บริการที่เปลี่ยนไปได้ อย่างเมื่อก่อนคนไข้อาจรักษาที่หน่วยบริการสังกัด สธ. หรือมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนี้จะเริ่มมีหน่วยงานใหม่เข้ามา เช่น รพ.สต. ที่จะไปอยู่ภายใต้ อบจ. ฉะนั้นโครงสร้าง Telemedicine ที่เราออกแบบก็จะต้องยืดหยุ่น และไปเชื่อมกับเขาได้โดยไม่มีปัญหา เพราะเราคาดหวังว่าเมื่อระบบนี้เกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นต้นแบบกับพื้นที่อื่นๆ ในการผลักดันต่อไป” ผศ.นพ.กฤษณ์ ทิ้งท้าย