ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่สั่นสะเทือนระบบบริการสุขภาพ ‘ภาคใต้’ สำหรับการจัดตั้ง โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,600 ล้านบาท

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กำลังกลายมาเป็น ‘ความหวัง’ และ ‘ที่พึ่ง’ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน เนื่องจากหากสร้างเสร็จ 100% จะใหญ่ใน ‘ระดับตติยภูมิ’ โดยมีขนาดถึง 750 เตียง และจะให้บริการทางการแพทย์โดยใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง

การดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2553 เพื่อให้เป็นโรงเรียนแพทย์จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษากลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ตอนบน

ขณะนี้ การก่อสร้างเฟส 1 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการไปตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 เป็นต้นมา

ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 3,023 ล้านบาท พร้อมให้บริการ 426 เตียง บนพื้นที่กว่า 84,000 ตารางเมตร ในเบื้องต้นจะรองรับการให้บริการแก่ประชาชนใน จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนบน

ที่น่าสนใจก็คือ โรงพยาบาลศักยภาพสูงขนาดตติยภูมิแห่งใหม่นี้ยินดีต้อนรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมแล้วกว่า 60,000 ราย

แบ่งออกเป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ราว 40% ประชาชนชำระเงินเอง 28% นักศึกษาและพนักงานมหาวิทยาลัย 25% ส่วนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีอยู่เพียงแค่ 0.41% เท่านั้น

สำหรับในเฟสแรก มีการบรรจุแพทย์ไปแล้วกว่า 70 อัตรา และคาดว่าจะเพิ่มอีก 25 อัตราภายในปีนี้ ขณะที่บุคลากรด้านต่างๆ มีมากกว่า 500 คน และจะเพิ่มเป็นถึงกว่า 700 คน ภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่การให้บริการ ปัจจุบันเปิดให้บริการคลินิกรักษาโรคแล้วกว่า 15 คลินิก มีห้องผ่าตัดกว่า 10 ห้อง ห้องฉุกเฉิน (ไอซียู) กว่า 24 ห้อง ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เพิ่งเปิดให้บริการ และมีความโอ่อ่าสวยงามคล้ายกับโรงพยาบาลเอกชน จึงอาจทำให้ประชาชนกังวล และอาจไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ เพราะไม่มั่นใจว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงคือโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง

“สปสช. ได้ร่วมหารือกับทางมหาวิทยาลัย ในการจัดระบบให้คนไข้บัตรทองมีโอกาสเข้ารับบริการที่นี่ได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะมีการประสานกับโรงพยาบาลโดยรอบที่มีความหนาแน่น หรือประสงค์ต้องการส่งต่อ ก็สามารถส่งคนไข้สิทธิบัตรทองมารับบริการที่นี่ได้” นพ.จเด็จ กล่าว

อนึ่ง ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ประสงค์ต้องการย้ายสิทธิของตนมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช. หรือสายด่วน 1330 หรือติดต่อโรงพยาบาลได้เองโดยตรง

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็ได้มีการให้ความมั่นใจกับทางโรงพยาบาลถึงกระบวนการเบิกจ่ายของสิทธิบัตรทอง ที่ปัจจุบันใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จึงช่วยลดภาระในเรื่องของการส่งข้อมูล และมี สปสช.เขต ที่จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการเบิกจ่ายให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้โรงพยาบาลมั่นใจว่าจะได้รับค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการให้บริการอย่างแน่นอน