ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข  เผย ท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับเคาะโครงสร้างเตรียมรับนักวิชาการสาธารณสุข บรรจุเป็น 'นักสาธารณสุข' รวดเร็วทันใจพร้อมใช้ ต.ค. นี้ รองรับปีงบฯ 67 ได้เลย เผยสวัสดิการจะได้เงินตำแหน่งเพิ่ม 3,500 - 5,600 บาท ส่วนฝั่ง สธ. ยังปรับโครงสร้างอัตรากำลังช้า พร้อมช่วยพี่น้องนักวิชาการสาธารณสุขในหน่วยงาน-กระทรวงอื่น ให้ได้สิทธิเหมือนกัน 


นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งผลการประชุมเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 นั้นได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดบุคลากรตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นตำแหน่งภายใต้โครงสร้างองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล

รวมถึงมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น (ก.ถ.) กำหนดตำแหน่งให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค. 2566 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันทีในปีงบประมาณ 2567 

นายริซกี กล่าวว่า ความสำคัญของมติที่ประชุมฯ นี้ คือ นักวิชาการสาธารณสุขที่มีคุณวุฒิตามที่กำหนด กล่าวคือ จบหลักสูตรด้านสาธารณสุขศาสตร์ หรือเทียบได้ในระดับเดียวกัน รวมถึงนักวิชาการสาธารณสุข ระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ หรือตำแหน่งอื่นๆ แต่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ให้ได้รับการบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขในสังกัดท้องถิ่น 

"หากเป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่อยู่ในท้องถิ่นแต่ละระดับอยู่แล้ว ก็จะได้รับการบรรจุให้ได้เป็นนักสาธารณสุข ที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับ ขณะที่หากท้องถิ่นใดยังไม่มีนักสาธารณสุข ก็จะเปิดให้สรรหาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ทันภายในเดือน ต.ค. 2566 นี้ หรือเป็นการปรับโครงสร้างรองรับปีงบประมาณ 2567 ที่จะถึง" นายริซกี กล่าว 

นายริซกี กล่าวอีกว่า การบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น จะช่วยให้บุคลากรนักวิชาการสาธารณสุขชุมชน ที่สังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนมายัง อบจ. ได้รับการบรรจุในตำแหน่งนักสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางอาชีพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ถ่ายโอนด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับการบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขในท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับ หากพนักงานท้องถิ่นเดิมที่มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งที่เกี่ยวกับสาธารณสุขชุมชน เช่น ทำหน้าที่ธุรการ หรือทำหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข ก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งนักสาธารณสุข 

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า นอกจากในส่วนของการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของท้องถิ่นแล้ว ยังมีนักวิชาการสาธารณสุขที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ยังกำหนดให้บรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขด้วยเช่นกัน ทว่า ขั้นตอนกระบวนการของ สธ. มีความล่าช้ากว่ามาก เนื่องจากอาจติดขัดในกระบวนการขั้นตอนทางราชการ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมพิจารณาถึงโครงสร้างการปรับอัตรากำลังในตำแหน่งนักสาธารณสุข 

"ในส่วนของ สธ. จะมีฝ่ายสำนักปลัด สธ. ที่ดูเรื่องนี้อยู่ แต่เข้าใจว่าด้วยโครงสร้างอัตรากำลังคนของ สธ. ที่มีขนาดใหญ่ บุคลากรเยอะ ก็ทำให้ต้องใช้เวลาทำโครงสร้างใหม่กันนาน นักวิชาการสาธารณสุขที่สังกัด สธ. ก็ต้องรอดูและติดตามกันต่อไป แต่เมื่อ ก.ถ. ที่ดูกำลังคนของท้องถิ่น ที่ได้ประกาศรับรองเร็วกว่า ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ดูแลบุคลากรของรัฐ ก็เลยทำให้มีความคล่องตัว และรวดเร็วในการจัดการมากกว่า" เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าว 

ทั้งนี้ สิ่งที่นักสาธารณสุขจะได้รับเมื่อได้รับการบรรจุในตำแหน่งตามโครงสร้างแล้ว ได้แก่ เงินเดือนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเดิม หรือได้สูงกว่าเดิมในระดับใกล้เคียงกัน อีกทั้งได้รับเงินประจำตำแหน่งนักสาธารณสุข ที่ระดับชำนาญการ จะได้รับที่ 3,500 บาทต่อเดือน และชำนาญการพิเศษ 5,600 บาทต่อเดือน ในแบบทวีคูณ รวมไปถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขของพนักงานราชการ (พ.ต.ส.) 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับการประกาศรับรองให้บรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขของ  สธ. และท้องถิ่นในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) คือ เกิดการรับรู้ถึงการมีวิชาชีพใหม่ในการดูแลและให้บริการสุขภาพประชาชน และจะต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบวิชาชีพที่ครอบคลุมอยู่ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 และยังเป็นกฎหมายที่สอดรับกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่ต้องยึดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับดูแลสุขภาพของประชาชน 

นายริซกี กล่าวด้วยว่า นับเป็นข่าวดีอย่างมากของคนในวิชาชีพนักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นคน และในจำนวนนี้มีใบประกอบวิชาชีพพร้อมแล้ว 3 หมื่นคนที่รอพิจารณาเข้าสู่ตำแหน่งทั้งในส่วนของสังกัด มท. และ สธ. ซึ่งจะทำให้มีอนาคตการทำงานที่สดใสมากขึ้น และช่วยให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม และสมศักดิ์ศรีของบุคลากรทางการแพทย์เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ 

"ขณะที่ในหน่วยงาน หรือกระทรวงอื่นๆ ที่มีนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ เช่น ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) โรงพยาบาลตำรวจ หรือที่ประจำอยู่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาวะของประชาชนในทุกมิติ ก็จะมีการผลักดันเพื่อให้เกิดการพิจารณาบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขในหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงกระทรวงอื่นๆ ต่อไป เพื่อช่วยเหลือเพื่อสมาชิกที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศ" นายริซกี กล่าว