ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย ยื่นหนังถึง “กมธ.การสาธารณสุข” ปมจัดคนลงตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ล่าช้า ชี้ กรณีจัดคนลงตำแหน่งไม่พร้อมกัน สธ. ต้องมีคำตอบและความชัดเจน


นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) และผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.การสาธารณสุข) สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ได้มีการเข้ายื่นหนังสือต่อ กมธ.สาธารณสุข เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีการจัดคนลงตำแหน่งนักสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และในหน่วยงานสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธาน กมธ.การสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมระบุว่าจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับการยื่นหนังสือในครั้งนี้ เป็นการติดตามการจัดคนลงตำแหน่งนักสาธารณสุข หลังจากที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 สอดคล้องกับการประชุม อ.ก.พ.สธ. ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ที่มีมติเห็นชอบการกำหนดสายงานในโครงสร้าง และกรอบอัตรากำลังตำแหน่งนักสาธารณสุข

อย่างไรดี เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 ทราบข้อมูลว่ามีการจัดคนลงตำแหน่งนักสาธารณสุขเพียง 1,459 คนเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ สธ. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และจบการศึกษาปริญญาตรี ซึ่งทางสภาฯ ก็ได้มีการรวบรวมรายชื่อราว 2.9 หมื่นรายชื่อทั้งจากส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นเป็นก้อนเดียว ขณะเดียวกันจากการดูรายชื่อก็พบว่ารายชื่อที่ออกมานั้นปรากฏแค่ส่วนภูมิภาค ไม่มีส่วนกลาง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้น 

มากไปกว่านั้น ในจำนวน 1,459 คนกลับพบว่าไม่มีจากส่วนกลาง แต่มาจากภูมิภาค ซึ่งทุกคนที่มีโอกาสก็รอด้วยความหวัง เพราะมีวุฒิการศึกษา รวมถึงคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่ ก.พ. กำหนด ฉะนั้นเมื่อตัดออกไปก็จะต้องมีคำอธิบาย ขณะเดียวกันในเรื่องวุฒิการศึกษา ก็เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนดเช่นกัน จะแยกวิทยาศาสตร์บัณฑิต หรือสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตไม่ได้ เพราะมาจากวิทยาศาสตร์บัณฑิต กระทั่งเกิดการทำมาตรฐาน หรือวุฒิเฉพาะขึ้นมา

“เราให้ข้อมูลไปทั้งก้อน ซึ่งเขาก็สามารถดึงตาม จ.18 ได้เพื่อให้ง่ายขึ้น คือถ้าประเมินต้องไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่พอเลขออกมาเป็น 1,459 คนก็เลยช็อก เพราะจริงๆ ต้องได้ทั้งก้อน เพราะมีใบประกอบเหมือนกัน แต่ทำไมถึงได้ก่อนได้หลัง กระทรวงฯ จะต้องตอบคำถามให้ได้” นางทัศนีย์ กล่าว

นางทัศนีย์ กล่าวต่อไปว่า การยื่นหนังสือติดตามต่อ กมธ.การสาธารณสุขในครั้งนี้ยังรวมถึงเรื่องเงินประจำตำแหน่งที่สูญไป จากการประกาศกฎ ก.พ. ว่าด้วยเรื่องการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2567 โดยพบว่ายังไม่มีการระบุสายงานนักสาธารณสุข

อย่างไรตาม ภายหลังจากการยื่นหนังสือในครั้งนี้ คาดว่าจะมีการยื่นหนังสือเข้าไปที่ กมธ.การสาธารณสุขอีกครั้งเพื่อขอเปิดประชุม หรือขอให้เข้าไปในวาระการประชุม รวมถึงอาจจะต้องยื่นเรื่องผ่านไปยัง ส.ส. เพื่อขอยื่นกระทู้ ซึ่งก็อยากจะให้เป็นไปตามวิธีการก่อน โดยเริ่มจากการคุยกับ กมธ.การสาธารณสุข และ สธ.ก็ต้องมีคำตอบ

“คนมีอีก 2 หมื่นกว่าคนจะทำอย่างไร ไทม์ไลน์เบ็ดเสร็จใช้เวลาเท่าไร และจะต้องไปทั้งหมด ไม่ใช่ไม่พร้อมกัน หรือถ้าไม่พร้อมก็จะต้องมีเหตุผลว่าเพราะอะไร และจำนวนจะต้องชัดเจน” นางทัศนีย์ ระบุ