ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า มีผู้ป่วยมากถึง 7.6 ล้านคนในอังกฤษที่รอการรักษาจากบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และ 2 ใน 5 ของผู้ป่วยรอนานเกิน 18 สัปดาห์แล้ว

การรายงานข่าวนี้ตอกย้ำผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์สะสม และการประท้วงหยุดงานของกลุ่มแพทย์ รวมทั้งแพทย์จบใหม่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบ NHS และจัดการกับสภาวะการทำงานหนักของบุคลากรด้านสุขภาพ 

ข้อมูลจากมูลนิธิหัวใจแห่งอังกฤษ (British Heart Foundation) ชี้ว่า มีผู้ป่วยเกือบ 4 แสนคนที่รอการรักษาโรคด้านหัวใจ 37% ในนั้นเป็นผู้ป่วยที่รอเกินกว่า 18 สัปดาห์ และมี 12,799 คน ที่รอเกินหนึ่งปีแล้ว ทั้งๆที่ต้องได้รับกาารักษาเป็นการเร่งด่วน 

แม้มีรายงานว่าระยะเวลารอรถพยาบาลเร็วขึ้นสำหรับกลุ่มผู้ป่วยหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก แต่ระยะเวลารอในเดือน ก.ค. กลับแย่ลง อยู่ที่ประมาณ 37 นาที เพื่มขึ้นจาก 32 นาทีจากก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน 

ในเดือน ก.ค. เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินถึงโรงพยาบาล มีแค่ 61% ของผู้คนได้รับการรักษาหรือส่งต่อภายใน 4 ชั่วโมงนับตั้งแต่เข้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่วางไว้ในระบบ NHS แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 50% ในเดือน ธ.ค. แต่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 95% 

ความล่าช้าเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเช่นกัน มีเพียง 59% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งครั้งแรกภายใน 2 เดือนหลังจากการส่งต่อจากแพทย์ทั่วไป ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ 85% นอกจากนี้ ประมาณ 62% ของผู้ป่วยมะเร็งได้พบแแพทย์ภายใน 2 เดือนหลังตรวจวินิจฉัยโรคครั้งแรก น้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 90% 

ข้อมูลจาก NHS ระบุว่า จำนวนผู้คนที่รอการรักษาในภาพรวมคิดเป็น 7,574,649 คน เป็นค่าสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลนี้ในเดือน ส.ค. ปี 2550 และยังเกิดความล่าช้าในการพบแพทย์มากกว่า 835,000 นัด ตั้งแต่กลุ่มแพทย์ประท้วงหยุดงานมานานกว่าครึ่งปี

ศาตราจารย์ จูเลียน เรดเฮด (Julian Redhead) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ฉุกเฉินแห่ง NHS ระบุว่า การประท้วงส่งผลต่อการให้บริการสุขภาพ และเพิ่มความกดดันให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่อัตราคนป่วยสูงสุด 

ด้าน แซฟฟรอน คอร์เดอรีย์ (Saffron Cordery) รองประธานฝ่ายบริหารของ NHS กล่าวว่า ความล่าช้าในการให้บริการสุขภาพ เปรียบเสมือนระเบิดเวลาจากปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณด้านสุขภาพที่จำกัดจำเขี่ย การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูง ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และการประท้วงหยุดงานของแพทย์และพยาบาล

เธอเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในระบบสุขภาพมากกว่านี้ โดยเฉพาะการลงทุนกับบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และขอให้กลุ่มหมอหยุดประท้วงก่อน เพราะก่อให้เกิดภาวะบริการสุขภาพชะงักงัน เกิดการผันทรัพยากรที่ควรจะใช้เพื่อจัดการความล่าช้าสะสมจากการให้บริการเดิม มาจัดการกรณีความล่าช้าที่เกิดขึ้นใหม่

ทั้งนี้ แซฟฟรอน เสนอให้รัฐบาลและสหภาพแรงงานด้านสุขภาพพูดคุยกันเพื่อหาข้อตกลงร่วมให้เร็วที่สุด 

ขณะที่แหล่งข่าวด้านสุขภาพเผยกับ The guardian ว่า มีแนวโน้มที่คิวรอบริการจะพุ่งสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

พญ.โรเซนา อัลลิน-คานห์ (Rosena Allin-Khan) ตัวแทนฝ่ายค้านรัฐบาลให้ความเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ และไม่มีแผนการที่ชัดเจน ทั้งยังโยนบาปให้แพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างหนัก 

อีกด้านหนึ่ง พ.ญ.ซาร่า สโคบี (Sarah Scobie) รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแห่งมูลนิธินัฟฟิลด์ (Nuffield Trust) กล่าวว่า การลดเวลารอของผู้ป่วยนับล้านไม่ใช่เรื่องง่าย และรัฐบาลจะเผชิญกับเส้นทางที่ยากลำบากในการแก้ปัญหานี้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า บุคลากรของ NHS กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อจัดการความล่าช้าในการรอคิว ส่งผลให้อัตราการให้บริการเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. แต่การแก้ปัญหายังไม่เร็วพอที่จะลดการรอคิวทั้งหมด

“แม้จะมีมีมาตรการใหม่ เช่น เพิ่มศูนย์วินิจฉัยโรคในระดับชุมชน เพิ่มช่องทางรับการรักษาให้ผู้ป่วย แต่มาตราการทั้งหมดนี้ไม่สามารถลดคิวได้ภายในเวลาเพียงคืนเดียว เพราะระบบมีทรัพยากรบุคคลจำกัด การประท้วงของแพทย์จะเพิ่มความกดดันต่อการให้บริการมากขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า" พญ.สโคบี กล่าว

อ่านบทความต้นฉบับ: 
https://www.theguardian.com/society/2023/aug/10/people-england-waiting-for-nhs-treatment