ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาล ‘สหราชอาณาจักร’ เปิดเวทีหารือผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจัดทำมาตรการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพอาชีวอนามัย ดูแลสุขภาพและป้องกันโรคลูกจ้างในที่ทำงาน 

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงงานและบำนาญ (Department of Works and Pensions: DWP) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม (Department of Health and Social care: DHSC) แห่งสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่เอกสารสรุปแนวทางหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนนี้ ไปจนถึงเดือน ต.ค. 2566 เพื่อจัดทำมาตรการยกระดับบริการสุขภาพอาชีวอนามัยแก่ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ

บริการสุขภาพอาชีวอนามัย (Occupational Health Services) คือบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในที่ทำงาน เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสภาพร่างกาย การให้บริการวัคซีนที่จำเป็น ไปจนถึงการให้คำcนะนำปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างทำงานอย่างปลอดภัย 

เป้าหมายหลักของบริการสุขภาพอาชีวอนามัย คือ การลดแนวโน้มที่ลูกจ้างจะเป็นโรคหรือได้รับบาดเจ็บ หรือฟื้นฟูร่างกายได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีอาการป่วย ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของลูกจ้าง สร้างแรงงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจ 

การประชาพิจารณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จะนำไปสู่ข้อเสนอยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพทางร่างกายและจิตใจในสถานที่ทำงาน เน้นกลุ่มลูกจ้างในบริษัทหรือธุรกิจที่มีขนาดเล็กถึงกลาง 

1 ใน 5 ของผู้ประกอบการขนาดเล็กจัดบริการสุขภาพอาชีวอนามัยให้แก่ลูกจ้าง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งมี 90% ของผู้ประกอบการที่ให้การสนับสนุนบริการประเภทนี้ ส่งผลให้ลูกจ้างอยู่ในตลาดแรงงานระยะยาว และมีประสิทธิผลในการทำงานสูงกว่า

ข้อเสนอจากการหารือ อาจรวมถึงการทำมาตรฐานบริการสุขภาพอาชีวอนามัยระดับชาติ กำหนดให้บริษัททุกแห่งต้องสนับสนุนการมีสุขภาพดีในที่ทำงาน โดยจะมีการออกแนวทางเพื่อขอรับรองคุณภาพการดูแลพนักงาน และการเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ 

มาตรการนี้จะจูงใจให้คนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น หลังจากที่คนจำนวนมากออกจากตลาดไปในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

กระทรวงงานและบำนาญได้ช่วยหางานให้แรงงานมากกว่า 3.6 แสนคน ซึ่งตกงานในระหว่างโรคระบาด เหตุผลหลักที่คนเลือกไม่กลับไปทำงาน คือ อาการป่วยเรื้อรัง และมีแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งที่เข้าถึงบริการสุขภาพอาชีวอนามัย 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาชีพสุขภาพอาชีวอนามัยในระยะยาว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรด้านนี้ในอนาคต 

เช่น จูงใจให้พนักงานสุขภาพที่ลาออกจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) เปลี่ยนสายงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย หรืออบรมและพัฒนาแรงงานที่สามารถให้บริการสุขภาพอาชีวอนามัยแก่แรงงานด้วยกัน 

“รัฐบาลมีแผนการลงทุนเงินจำนวนหลายพันล้านปอนด์ เพื่อให้คนกลับมาทำงานและเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจ เราต้องการให้ผู้ว่าจ้างงานมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย” เมล สไตรด์ (Mel Stride) รัฐมนตรีกระทรวงงานและบำนาญกล่าว

“ธุรกิจที่แข็งแกร่งต้องการคนทำงานที่มีสุขภาพดี มีอัตราการการลาออกน้อย มีประสิทธิภาพในการทำงาน และขาดงานจากการเจ็บป่วยน้อยลง การยกระดับสุขภาพในที่ทำงานเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มการจ้างงานในอนาคต”

ทอม เปอร์สโกลฟ์ (Tom Pursglove) รัฐมนตรีประจำกระทรวงคนพิการ สุขภาพและงาน ให้ความเห็นว่า ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากมีการส่งเสริมสุขภาพให้แรงงานแล้ว จะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน โดยผู้ประกอบการจะพบลูกจ้างที่มีคุณภาพ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี ขณะที่ลูกจ้างมีงานทำต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในด้านการงาน 

นอกจากนี้ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรยังมีแนวคิดเพิ่มการลงทุนบริการสุขภาพอาชีวอนามัยโดยใช้กลไลทางภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่ลงเม็ดเงินยกระดับบริการสุขภาพอาชีวอนามัยในที่ทำงาน อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ยังต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียก่อน 

“การสนับสนุนบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพในที่ทำงาน ไม่เพียงช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยให้แรงงานมีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุข” สตีฟ บาร์คเลย์ (Steve Barcley) รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและการดูแลทางสังคมกล่าว 

“สุขภาพที่ดีของแรงงานมีคุณประโยชน์อย่างสูง และหากเราสามารเน้นมาตรการป้องกันโรคในบริการอาชีวอนามัยแล้ว จะสามารถลดภาระในระบบ NHS ลดการรอคิว ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข”

แองเจลา โรวน์ทรี (Angela Rowntree) แพทย์อาชีวอนามัยประจำบริษัท John Lewis Partnership กล่าวว่า บริษัทเห็นความสำคัญของสุขภาพลูกจ้าง และกำลังยกระดับการดูแลลูกจ้าง จากแต่เดิมที่เน้นการดูแลอาการเจ็บป่วย ไปสู่การสร้างสุขภาพวะที่ดีแบบองค์รวม 

บริษัทให้สวัสดิการสุขภาพแก่ลูกจ้างตั้งแต่ปี 2515 และยินดีสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมบริการสุขภาพอาชีวอนามัย

อ่านบทความต้นฉบับ :
https://www.gov.uk/government/news/new-plans-to-boost-health-in-the-workplace-to-keep-people-in-work