ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2491 

แม้ว่า NHS ทำให้ชาวอังกฤษเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่ล้มละลายมานานหลายทศวรรษ แต่ก็เกิดความท้าทายใหม่ขึ้นมาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ไปจนถึงภาระงานที่หนักเกินไปสำหรับบุคลากรสาธารณสุข จนอาจนำไปสู่ “วิกฤต” ระบบสุขภาพ 

ปีเตอร์ ซีเวย์ (Peter Sivey) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุในบทความที่เผยแพร่ในสื่อ The Coversation เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาของระบบ NHS อยู่ที่อุปทาน (Supply) และอุปสงค์ (Demand) ที่ไม่เข้าคู่กัน 

บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นอุปทานในระบบสาธารณสุขที่มีความขาดแคลนสูง ข้อมูลจากระบบ NHS ชี้ว่ามีความต้องหารบุคลากรทางการแพทย์มีมากถึง 133,446 คน คิดเป็น 9.7% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด 

ความขาดแคลนค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มพยาบาล ซึ่งมีความต้องการที่ 47,496 ตำแหน่ง หรือ 11.9% ของจำนวนพยาบาลที่ต้องการทั้งหมด 

ซีเวย์ชี้ว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนงบประมาณ แต่เกิดจากบุคลากรขาดแรงจูงใจในการสมัครงานเข้าสู่ระบบ NHS เพราะค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังผลักให้บุคลากรที่มีอยู่เดิมลาออกจากระบบอีกด้วย

ในด้านอุปสงค์ มีความต้องการบริการสุขภาพจากผู้ซื้อบริการมากขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ป่วยกลับมาใช้บริการหลังผ่านช่วงเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้จำนวนการนัดแพทย์และการใช้บริการฉุกเฉินเพิ่มสูงทะลุสถิติเดิม

ปรากฎการณ์นี้เห็นได้ในระบบสุขภาพทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแต่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น 

ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ความต้องการบริการสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นในสหราชอาณาจักร เพราะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในขณะที่ยังมีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง 

ในโรงพยาบาลหนึ่งๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เฉลี่ย 8,000 คน และเชื้อโควิด-19 ประมาณ 6,000 คน เข้ารับบริการผู้ป่วยในพร้อมกันในหนึ่งสัปดาห์ 

ซีเวย์ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวฉายภาพอนาคตทั้งในเชิงบวกและลบ ในเชิงบวก จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขนาดนั้นอาจนำไปสู่การลดความรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อในอนาคต เพราะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การมีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคระบาดประจำฤดูกาลในอนาคต ซึ่งหมายถึงความต้องการทรัพยากรด้านสาธารณสุขมารับมือโรคระบาดในทุกรอบฤดูกาล 

ดังนั้น การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อการรับมือโรคระบาดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วงกลางปี 2563 รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรริเริ่มให้ “วีซ่า NHS” กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศภายในและภายหลังช่วงเปลี่ยนผ่านของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า เบร็กซิต (Brexit)

วีซ่าประเภทนี้เกิดขึ้นจากความกังวลต่อปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบ NHS โดยมีการให้วีซ่าเพิ่มขึ้นจาก 30,000 รายในไตรมาศที่สองของปี 2565 เป็น 45,000 ในไตรมาสที่สามของปีเดียวกัน 

การอนุญาตวีซ่าประเภทนี้ น่าจะช่วยลดแรงกดดันจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทั้งยังอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ขอวีซ่าได้ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ซีเวย์ให้ความเห็นว่า แม้ระบบ NHS จะเห็นเค้าลางแห่งความวิกฤต แต่ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เช่นในกรณีของนักศึกษาพยาบาล ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นตั้งแต่การเริ่มระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างให้แก่พยาบาลและพนักงานลูกจ้างในปีต่อๆไป ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานจากฝ่ายบุคลากร และดึงให้พวกเขาอยู่ในระบบไปอีกสักพัก

ในระยะต่อไป ซีเวย์เสนอให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนในศักยภาพของโรงพยาบาล ไปพร้อมๆกับบุคลากรทางการแพทย์ ประเด็นเหล่านี้ควรพูดกันให้มากขึ้นในปีนี้ เพื่อวางแผนนโยบายแก้ไขปัญหาอุปสงค์และอุปทางในระบบสุขภาพที่ไม่เข้าคู่กันในระยะยาว

อ่านบทความต้นฉบับที่:
https://theconversation.com/nhs-crisis-underlying-problems-are-starting-to-be-addressed-197358