ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service (NHS) ในประเทศอังกฤษ จะสามารถขอรับยารักษา 7 กลุ่มอาการได้ที่ร้านยาภายในสิ้นปีนี้ พร้อมขอรับการตรวจความดันและยาคุมกำเนิดฟรี

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ร่วมกับ NHS เพื่อลดความแออัดที่คลินิกแพทย์ครอบครัว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีการนัดพบแพทย์มากถึง 24 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยเดือน 5 ล้านครั้งต่อเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอคิวพบแพทย์มากกว่าสองอาทิตย์

คลินิกแพทย์ครอบครัวเป็นจุดรับบริการปฐมภูมิภายใต้ระบบ NHS ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วย และส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไปยังโรงพยาบาล

ระบบกำหนดกติกาให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ที่คลินิกก่อน ไม่สามารถไปโรงพยาบาลระดับสูงหรือคลีนิกเฉพาะทางอื่นๆ เองได้ นอกจากแพทย์ครอบครัวอนุมัติการส่งต่อ

ข้อเสนอรับยาที่ร้านยาที่ร้านยานี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพในอังกฤษ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการนัดพบแพทย์ได้มากถึง 15 ล้านครั้งใน 2 ปีข้างหน้า

ผู้ป่วยจะสามารถขอรับยาฟรีได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจโดยแพทย์เหมือนอย่างแต่ก่อน เน้นรักษา 7 อาการทั่วไป ได้แก่ ปวดหู เจ็บคอ ไซนัสอักเสบ แผลพุพอง งูสวัด ติดเชื้อจากแมลงกัดต่อย และกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน

ผู้ป่วยยังขอรับการตรวจความดันและยาทานคุมกำเนิดฟรีได้ที่ร้านยา คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการตรวจเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านครั้งภายในหนึ่งปี เพิ่มขึ้นจาก 900,000 ครั้งในปีที่ผ่านมา

2

ขณะที่ผู้หญิงมากกว่าครึ่งล้านไม่จำเป็นต้องขอยาทานคุมกำเนิดผ่านคลีนิกแพทย์ครอบครัว

นอกจากนี้ NHS มีแนวคิดให้ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการกายภาพบำบัด ตรวจสอบการได้ยิน และบำบัดรักษาโรคเท้า โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติส่งต่อจากแพทย์ครอบครัว

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับคำชื่นชมจาก ธอร์รัน โกวินด์ (Thorrun Govind) ประธานสภาเภสัชกรรมในราชบรมชูปภัมภ์ ซึ่งมองว่านี่คือ “เกมส์เปลี่ยน” สำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ

อแมนดา พริทชาร์ด (Amanda Pritchard) ผู้อำนวยการ NHS ระบุว่าข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพที่มีความทะเยอทยาน และจะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบสุขภาพ ลดเวลารอคิวพบแพทย์ ลดภาระงานบุคลากร และบุคลากรสามารถเน้นดูแลผู้ที่มีอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็แสดงความกังวลต่อความพร้อมของร้านยา ทั้งในด้านสถานที่ และศักยภาพของเภสัชกร

เบคซี เบรด (Beccy Baird) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพคิงส์ฟันด์ (King’s Fund)  ระบุว่าร้านยาจำนวนมากอาจไม่มีความพร้อมรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจากผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องกลับไปพึ่งพอหมอครอบครัวในที่สุด

ขณะที่ผู้ป่วยอาจไม่สามารถแยกแยะอาการของตนเอง และไม่แน่ใจว่าควรไปร้านยาหรือหาหมอเลย ยกตัวอย่างเช่นอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งยากที่จะบอกว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่

ในด้านของกลุ่มแพทย์ คามิเลีย ฮอว์โทรน์ (Kamila Hawthorne) ประธานวิทยาลัยแพทย์ครอบครัวในราชาบรมชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะประบปรุงระบบสุขภาพ แต่อาจเป็นทางออกชั่วคราว แต่ทางออกที่ยั่งยืนกว่าคือการเพิ่มจำนวนแพทย์ครอบครัวให้ทันความต้องการ

จำนวนแพทย์ครอบครัวในอังกฤษมีจำนวนลดลงตั้งแต่ปี 2558 ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขแห่งอังกฤษมีนโยบายเพิ่มจำนวนแพทย์ครอบครัว ปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มแพทย์ครอบครัวอีก 4,200 คน และจะเพิ่มเป็น 8,800 คนในปี 2574

ขณะที่จำนวนร้านยาในชุมชนลดลงเล็กน้อยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ลดลงประมาณ 160 ร้าน เหลือ 11,026 ร้านทั่วประเทศ    

ในเชิงการเมือง ความพยายามลดเวลารอพบแพทย์ครอบครัวถูกมองว่า เป็นวิธีการเรียกคะแนนเสียงความนิยมให้พรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลในตอนนี้ และสูญเสียคะแนนเสียงในระดับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

ทางด้าน เดซี่ คูเปอร์ (Daisy Cooper) โฆษกพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่าหากรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมยังไม่แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ครอบครัว และเพิ่มร้านขายยาชุมชน ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่รากตอได้  

เช่นเดียวกับ เวส สตรีทิง (Wes Streeting) จากพรรคฝ่ายค้านที่ระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมมีแนวทางลดจำนวนนักศึกษาแพทย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่ระบบสุขภาพยังขาดแคลนแพทย์อีกจำนวนมาก นโนบายรับยาที่ร้านยาจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทาง แต่ไม่ได้แก้ปมปัญหาที่รากฐานของระบบ NHS  

1

7 กลุ่มอาการรับยาฟรีที่ร้านยาของอังกฤษ

ภายในสิ้นปีนี้ ผู้ป่วยภายใต้ระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service (NHS) ในประเทศอังกฤษ จะสามารถขอรับยาฟรีในกลุ่ม 7 อาการได้ที่ร้านยา โดยไม่ต้องผ่านการตรวจโดยแพทย์ครอบครัวเหมือนอย่างแต่ก่อน

นี่จะเป็นครั้งแรกที่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้เอง ซึ่งเป็นผลมาจากการเสนอนโยบายของรัฐบาลฝ่ายพรรคอนุรักษ์นิยม นำโดยนายกรัฐมนตรี รีชี ซูแน็ก (Rishi Sunak)  ร่วมกับ NHS เพื่อลดความแออัดที่คลีนิกแพทย์ครอบครัว

นโยบายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาล และรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยคาดว่าจะสามารถทำได้จริงภายในสิ้นปีนี้

ผู้ป่วยที่มี 7 อาการนี้จะสามารถขอรับยาได้ที่ร้านยาทั่วไป
 
อาการปวดหู
อาการปวดหูพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เกิดจากการติดเชื้อ เป็นหวัด หรือต่อมทอลซิลอักเสบ
ผู้ป่วยสามารถขอรับยาลดอาการ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน ซึ่งใช้รักษาอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากอาการปวดหูไม่หายภายในสามวัน ผู้ป่วยอาจต้องพบแพทย์
 
กระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน
กระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นโยบายรับยาที่ร้านยาจึงอนุญาตให้เฉพาะผู้หญิงขอรับยาจากเภสัชกร
อาการนี้รักษาได้ด้วยยาแก้อักเสบ หรือครีมทาจุดซ่อนเร้นที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจน
 
อาการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอสามารถรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา ด้วยการดิ่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อน และทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่คอ อย่างไรก็ดี อาจใช้ยาแก้อักเสบร่วมหากมีการติดเชื้อในลำคอ
 
ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ ก่อให้เกิดอาการปวดและบวมรอบๆแก้ม ดวงตา หรือหน้าผาก หายใจไม่สะดวก ไม่ได้กลิ่น ปวดหัว และลมหายใจเหม็น  
ปกติอาการเหล่านี้จะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ หากใช้ยาอาจทำให้อาการหายเร็วขึ้น เช่น เสปรย์พ่นจมูกหรือยาหยอด ยาแก้อักเสบหรือยาแก้แพ้
 
แผลพุพอง
แผลพุพองเกิดจากการติดชื้อ มักเริ่มต้นจากอาการผื่นแดง ตุ่มพองและแตก เกิดแผล ยาที่ใช้รักษา ได้แก่ ครีมทาหรือยาทานแก้อักเสบ
 
งูสวัด
งูสวัดก่อให้เกิดอาการปวดหัว และผื่นที่ก่อให้เกิดอาการคันหรือปวดด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มักเกิดตรงบริเวณหน้าอกหรือหน้าท้อง รวมทั้งหน้า ตา และอวัยวะเพศ
อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด และแผ่นแปะเย็น หรืออาจถึงขึ้นต้องพบแพทบ์หากมีอาการรุนแรง
 
อาการติดเชื้อจากแมลงกัดต่อย
อาการที่เกิดจากแมลงกัดต่อยมักหายภายในวันเดียว บางครั้งอาจมีอาการติดเชื้อร่วม ทำให้เกิดอาการแพ้หรือป่วยรุนแรง หากอาการไม่หายภายในวันเดียว สามารถขอรับยา เช่น ยาแก้ปวด ครีมทาแก้แพ้และอาการคัน
 
อ่านข่าวตันฉบับ
https://www.theguardian.com/society/2023/may/09/seven-conditions-english-pharmacies-could-prescribe-for-from-winter
https://www.theguardian.com/society/2023/may/09/pharmacies-england-prescriptions-seven-conditions-amid-surgery-crisis