ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยพยาบาลวิชาชีพกำลังสมองไหล เตรียมตัวไปทำงานต่างประเทศเพียบ เหตุค่าตอบแทนสูง ภาระงานน้อย แนะรัฐบาลจัดระบบใหม่ป้องกันปัญหาระยะยาว


รศ.ดร.จอนผะจง เพ็งจาด อาจารย์ประจำสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นการผลิตบุคลากรพยาบาลวิชาชีพเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน โดยระบุว่า ขณะนี้กำลังมีพยาบาลวิชาชีพ รวมถึงลูกศิษย์พยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลหลายแห่ง กำลังเตรียมตัวจะไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า และยังมีภาระงานที่ไม่มากเกินไป

2

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ต่างประเทศกำลังต้องการพยาบาลวิชาชีพจากประเทศไทย เพราะพื้นฐานของการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รวมถึงมีองค์ความรู้และการดูแลผู้ป่วยคนไข้ที่ได้มาตรฐานจากที่ผลิตพยาบาลวิชาชีพจากประเทศไทย อีกทั้ง พยาบาลของประเทศไทยยังมีความรับผิดชอบสูง ทำให้ขณะนี้หลายประเทศกำลังต้องการพยาบาลจากประเทศไทยจำนวนมาก

"ขณะที่อีกด้าน พยาบาลของเราก็ต้องการไปทำงานต่างประเทศเช่นกัน เพราะค่าตอบแทนที่สูงกว่า อย่างเช่นที่สหรัฐฯ ค่าตอบแทนพยาบาลก็เท่ากับค่าตอบแทนแพทย์ในประเทศไทยแล้ว ซึ่งค่าตอบแทนที่สูงขึ้นจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งเหตุผลสำคัญคือ ภาระงานที่ไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับงานในโรงพยาบาลของบ้านเรา" ผศ.ดร.จอนผะจง กล่าว

ผศ.ดร.จอนผะจง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวิทยาลัยพยาบาล รวมถึงคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็เร่งผลิตบุคลากรพยาบาลเข้าสู่ระบบสุขภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานของสภาการพยาบาล แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ เนื่องจากจำนวนอาจารย์ที่พร้อมสอนในระดับคลินิกปฏิบัติการ หรือการฝึกงานที่ต้องประกบใกล้ชิดในการดูแลผู้ป่วยยังมีน้อย อีกทั้ง เมื่อป้อนเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพแล้ว บัณฑิตพยาบาลที่เข้าไปทำงานต้องเจอภาระงานที่มาก ขณะที่ค่าตอบแทนก็ยังได้ไม่เหมาะสม ทั้งที่มีความรับผิดชอบไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ

1

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบันสำหรับอัตราของพยาบาลวิชาชีพ เมื่อเทียบกับภาระงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการกับประชาชนก็พบว่าไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตพยาบาลวิชาชีพทดแทนได้เพียงจำนวนลาออกของพยาบาล หรือการเกษียณเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ต่างประเทศต้องการพยาบาลวิชาชีพจากประเทศไทย อาจสะท้อนถึงผู้กำหนดนโยบายให้หันมาใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพ ที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหากมีพยาบาลที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องวางระบบการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ภาระงานของพยาบาลหนักเกินไป ซึ่งน่าจะช่วยให้การออกจากวิชาชีพพยาบาลลดลง และทำให้ไม่ต้องเกิดภาวะสมองไหล ที่พยาบาลจากประเทศไทยต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ