ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงที่ผ่านมามีการจุดประเด็นขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ถึงปัญหาของการ ‘ชุดพยาบาล’ สีขาวครามล้วนนวลตา ที่ให้ความ ‘สวยงาม’ แต่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในฐานะ ‘ด่านหน้า’ ที่ต้องดูแลผู้ป่วย 

พร้อมกับเสนอรูปแบบชุดพยาบาลที่เหมาะสมมากกว่า และอยากให้เป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับคนที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน 

ทำให้หลังจากนั้นมีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนให้เกิดขึ้น เช่น

“ชุดขาวใส่แล้วอึดอัดมาก ทั้งหมวกอีก อับชื้นที่สุด”

“เห็นด้วยค่ะ ชุดขาวล้าสมัย ร้อนมาก แถมราคาแพง”

“ส่วนตัวอยู่ ER (แผนกฉุกเฉิน) เปื้อนเลือดบางทีก็ซักไม่ออก” 

เหล่านี้สอดคล้องกับความคิดของ อดีตพยาบาล รองผู้จัดการแผนกผู้ป่วยนอกเด็ก (OPD) ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ที่บอกกับ “The Coverage” ว่าการจะเปลี่ยนตัวชุดให้ใส่เป็นกางเกงก็เข้าใจได้ เพียงแต่อยากให้คงสีขาวของกางเกงเอาไว้เหมือนเดิม และเพิ่มแถบระบุตำแหน่ง

นอกจากนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงเรื่องหมวก รวมถึงกางเกงพยาบาลไม่ให้เป็นเอวยางยืด แต่เป็นกางเกงแบบปกติหรือกางเกงสแลค เพราะเวลาใส่ยางยืดไปหน้างานจะดูไม่เรียบร้อย 

รวมถึงควรปรับให้เป็นเสื้อคอวีแบบตื้น แต่จะขอเปลี่ยนจากสีน้ำเงินให้เป็นสีขาวเหมือนเดิม และจะต้องเป็นเสื้อสีขาวมีปักตำแหน่งที่ข้างใดข้างนึงให้ทุกคนรู้ (ยกเว้นแผนก ER) และเนื้อผ้าจะต้องไม่บางเกินไป เพราะเวลามีเหงื่อหรืออะไรก็ตาม โดยเฉพาะพยาบาลผู้หญิง มันจะทำให้เห็นรูปร่างข้างในและดูไม่เหมาะสมเอาได้

3

เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่คาดไม่ถึงสำหรับ วิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าพยาบาลงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (หน่วย EMS) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้โพสต์เรื่องดังกล่าวลงบนเฟซบุ๊ก เพราะจุดประสงค์ของเขาคือ ต้องการรับฟังจากทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่

วิทยา เล่าให้ “The Coverage” ฟังถึงเหตุผลและจุดเริ่มต้นที่เข้ามาผลักดันเรื่องนี้ว่ามาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เริ่มทำงานในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล (ตอนนั้นเป็นแค่ส่วนงานยังไม่เป็นแผนกเหมือนในปัจจุบันนี้ที่ทำอยู่)  ซึ่งเดิมชุดที่เขาใส่ปฏิบัติงานจะเป็น ‘เสื้อสีขาว กางเกงดำ’ ส่วนพยาบาลผู้หญิงจะเป็น ‘ชุดขาวทั้งชุด และต้องสวมหมวก’ 

ขณะที่หน้างานเต็มไปด้วยความเร่งรีบ และเสี่ยงต่อการเลอะเปื้อนตลอดเวลา โดยในแต่ละวันทันทีที่มีการโทร.1669 เข้ามา แผนกห้องฉุกเฉินก็จะรีบกรูกันออกไป ในตอนนั้นเองที่เขาเริ่มรู้สึกขึ้นมาว่าชุดที่กำลังสวมทำงานอยู่มัน ‘ไม่ค่อยเหมาะกับบริบทการทำงาน’ 

แต่ครั้นจะเสนอขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน แต่พอทำมาได้ 5 ปีและได้ไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน (Emergency medical services, EMS) ในการออกเขต ก็เริ่มมองเห็นว่าการแพทย์ฉุกเฉินควรจะไปได้ดีและมีคุณภาพกว่านี้

จากสิ่งที่เขาได้พบเจอต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้วเขาจึงกลับมาทำโครงการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ นั่นก็คือ ‘หน่วยงาน EMS’ ผ่านการความเห็นชอบจากผู้บริหาร และออกมาเป็นงานที่จริงจัง พร้อมกันนั้นวิทยาก็ได้เดินหน้าเรื่องการเปลี่ยนชุดพยาบาลควบคู่ไปด้วยจนสำเร็จในที่สุด

“แนวคิดการเปลี่ยนชุดเริ่มมาจากตรงนั้น หน่วยที่ทำมันต้องลงพื้นที่บ่อย และเครื่องแต่งกายพยาบาลมันเป็นเสื้อขาว และในที่มืดตอนกลางคืนบนถนน ซึ่งมันเป็นจุดลับสายตา ทำให้มองเห็นในระหว่างปฏิบัติงานได้ยาก เลยเอามาเป็นวัตถุประสงค์ของชุดว่ามันจะใส่แบบนี้คงไม่ได้ ยิ่งช่วงฝนตกที่ต้องใส่ชุดขาวด้วย

“เราเลยอยากผลักดันในการเปลี่ยนชุดขาวโดยเริ่มจากเฉพาะหน่วยเราก่อน ซึ่งเราได้ออกแบบชุดแบบสะท้อนแสงตามมาตรฐานที่ควรจะมี” วิทยา กล่าว

จากแผนก สู่โรงพยาบาล

จากความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายพยาบาลในแผนก แต่กลับได้ผลตอบรับออกมาดีกว่าที่คิด วิทยาจึงอยากจะขยายไปสู่ทุกแผนกในโรงพยาบาล เพราะเชื่อว่าพยาบาลคนอื่นๆ ในโรงพยาบาลอาจต้องเจอปัญหาลักษณะคล้ายกัน

ประกอบกับช่วงนั้นผู้บริหารของโรงพยาบาลเล็งเห็นถึงปัญหาการลาออกของพยาบาลจำนวนมาก แม้จะมีคนเข้ามาเยอะก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นทำให้คนที่ยังอยู่ต้องแบกภาระงานที่หนักอึ้ง จึงเริ่มมองหาลู่ทางที่จะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อให้บุคลากรอยู่ทำงานนานมากขึ้น และต้องมีความสุขในการทำงาน

ต่อมาจึงมีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเสริมสร้างความคุ้มกันองค์กร’ และวิทยาก็ได้เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยเกิดขึ้นเพื่อดูแลความสุขของบุคลากร ซึ่งหน้าที่หลักๆ คือ ‘คอยรับฟังผู้ปฏิบัติงานที่มีแนวโน้มที่จะลาออกสูง’

พอมีช่องทางที่สร้างขึ้นมาเพื่อรับฟังปัญหาผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ ก็พบว่า ปัญหาที่ได้รับการสะท้อนมามากที่สุดจะเป็นเรื่อง ‘ชุดพยาบาล’ เช่น เวลาช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังหยุดหายใจ (CPR) แล้วชุดเปื้อน ความเกะกะจากหมวกในระหว่างทำงาน ความกังวลเรื่องสุขอนามัยของหมวกที่ไม่มีซักบ่อยๆ 

เมื่อได้รับรู้ปัญหาแล้ว ทางคณะกรรมการฯ จึงพิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะแก้ไขในเรื่องนี้ โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของชุดตามหลักเกณฑ์ คือ เมื่อสวมใส่แล้วต้องทำงานได้อย่างคล่องตัว และก็ต้องเปื้อนได้ยากและเนื้อผ้าต้องซักง่ายได้ด้วย รวมถึงชุดต้องสามารถบ่งบอกตำแหน่งคนทำงานได้ (มีแถบหลัง) ให้ผู้ป่วยรู้ว่าคนนี้เป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือเป็นพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งที่รักษาสิทธิผู้ป่วยด้วย 

ดังนั้นวิทยาจึงมองเห็นช่องทางที่จะต่อยอดจากในแผนกให้เกิดในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพื่อที่อย่างน้อยๆ พวกเขาเหล่านี้จะได้มีความสุขในการทำงาน จึงรับหน้าที่เรื่องทำแบบสำรวจ จัดเก็บข้อมูล โดยชุดยึดเอาจากที่มีอยู่แล้วในตลาดแต่เป็นสำหรับแผนกอื่นๆ ที่ใช้เฉพาะ ซึ่งมีหลายสี หลากรูปแบบ และรายละเอียดที่แตกต่างกันจำนวนมาก

สำหรับการพิจารณาแบบชุดพยาบาลของคณะกรรมการฯ จะมีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. แบบสำรวจความเห็น 2. ร่างโครงการ โดยจะนำผลสำรวจที่ได้มาร่างเป็นระเบียบเครื่องแต่งกายมาโยงกับวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล 3. นำเสนอวิสัยทัศน์ต่อผู้บริหาร 

4. ข้อปรับปรุงและทำประชามติ เพื่อให้ร่างสมบูรณ์และเป็นที่น่าพอใจต่อทุกฝ่าย และ 5. เสนอกรรมการเครื่องแบบประกาศใช้ โดยขั้นตอนนี้ เมื่อได้ร่างที่สมบูรณ์แล้วจะนำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเป็นประกาศโรงพยาบาล 

ขณะนี้เหลือแค่รอพิจารณาเพื่อเอาเข้ามาเป็นเครื่องแบบโรงพยาบาล โดยคนที่ดูแลเครื่องแบบในส่วนนี้ ต้องเอามติตรงนี้ที่เป็นของพยาบาล ไปเข้ากรรมการชุดใหญ่ชุดนั้นของกรรมการที่ดูแลเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล

“การร่างนี้ไม่ได้เป็นการร่างเพื่อบังคับให้เปลี่ยนแต่อย่างใด แต่เพื่อเป็น ‘ตัวเลือก’ เท่านั้น ถึงแม้ว่าหลังจากนี้ผลโหวตจะออกมาแล้ว แต่ละแผนกก็ต้องไปปรึกษาหารือกันอีกทีว่าจะใส่แบบใหม่หรือไม่เพราะในเมื่อข้อกำหนดออกมาให้เป็นตัวเลือกได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ออกมาว่าจะใส่ ก็ต้องใส่เหมือนกันให้หมด” หัวหน้าพยาบาล หน่วย EMS เผย

วิทยา บอกอีกไปว่าหน่วยงานที่เขาอยากจะฝากถึงเป็นพิเศษเลยนั่นก็คือ ‘สภาการพยาบาล’ โดยอยากให้เพิ่มเติมใจความหมายเหตุเพิ่มว่า ‘ระเบียบเครื่องแต่งกายของแต่ละโรงพยาบาลก็ให้เป็นมติหรือระเบียบของโรงพยาบาลนั้นๆ ได้’ 

 “สภาการพยาบาลควรคำนึงถึงการปฏิบัติงานของคนทำงานจริงๆ ว่าชุดมันจะส่งผลกระทบมากน้อยขนาดไหน และควรจะเป็นสิทธิของพวกเขาที่จะเลือกได้ว่าชุดแบบไหนจะช่วยส่งเสริมให้การทำงานให้ราบรื่น

“ถ้าพูดถึงวัตถุประสงค์ของชุด มันต้องทำให้คนทำงานได้มีความสุขที่สุด ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพยาบาลทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกชุดพยาบาลที่เหมาะกับงานตัวเองได้ ซึ่งสิ่งที่เราทำมันก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง” วิทยา กล่าว

ยังไม่มีสัญญาณใดจากสภาการพยาบาล

ด้าน วุฒิชัย สมกิจ กรรมการสภาการพยาบาล ชุดที่ 10 วาระ 2565-2569 บอกกับ “The Coverage” ว่า ก่อนที่จะมีประกาศของสภาการพยาบาล พ.ศ. 2562 ว่าด้วยการแต่งกายของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่อาศัยอำนาจของมาตราที่ 7 (1 ) และ (3) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมการประพฤติและการส่งเสริมความสามัคคีในวิชาชีพ 

2

ในประเทศไทยยังไม่เคยมีประกาศที่ชัดเจนในการกำหนดเครื่องแต่งกายพยาบาลมาก่อยเลย ดังนั้นในบริบทขององค์ผู้นำวิชาชีพของประเทศจึงต้องมีการกำหนดแนวทางที่เป็นกลางของประเทศ 

วุฒิชัยบอกต่อไปว่าเท่าที่ดำรงตำแหน่งมา 1 ปี พบปัญหาเรื่องเครื่องแต่งกายจากผู้ปฏิบัติในหลายสถานพยาบาล แต่ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดหรือประกาศที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของพยาบาลนั้นยังไม่มีการหารืออะไรใดๆ ในสภาการพยาบาล 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่าควรมีการ ‘หารือร่วมกัน’ และกำหนดเครื่องแบบให้สอดคล้องกับการทำงาน ระหว่างสภาการพยาบาล องค์กรพยาบาล ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มคุณภาพการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะพยาบาลทุกคนเป็นคนที่จะต้องนำประกาศไปใช้เป็นหลัก 

“ปัจจุบันเครื่องแต่งกายพยาบาลค่อนข้างไม่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานพยาบาล ปัญหาที่ตามมา คือ การที่พยาบาลต้องเจอความเสี่ยงจากการทำงานตลอดเวลา เช่น สารคัดหลั่ง การสะสมเชื้อโรค สิ่งปฏิกูลที่เกิดจากผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งสารคัดหลั่งดังกล่าวเมื่อเปื้อนชุดแล้วจะซักออกยาก เมื่อเป็นเครื่องแบบสีขาวพอใช้บ่อยไปนานๆ จะทำให้สีชุดเหลืองซีดและส่งผลให้บุคลิกภาพของพยาบาลดูลดลง

“การออกแบบเครื่องแต่งกายของพยาบาลในสถานพยาบาลเป็นอำนาจของผู้บริหารทางการพยาบาลและผู้ปฏิบัติของสถานพยาบาลนั้นๆ ถ้าพิจารณาจะพบว่าเครื่องแบบของสถานพยาบาลหลายแห่ง หรือในบางหอผู้ป่วยจะไม่มีเขียนไว้ในประกาศของสภาการพยาบาล” วุฒิชัย อธิบายเสริม

วุฒิชัย ทิ้งท้ายว่าการแต่งกายของพยาบาลมีความเป็นพลวัตร นั่นคือมีการปรับเปลี่ยนตลอดตามยุคสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน การออกประกาศฉบับใดฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายขององค์กรพยาบาล หากยึดอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ย่อมทำให้การนำประกาศไปใช้จะทำให้ไม่เกิดประสิทธิผลที่ดีได้ 

ก่อนจากกันไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนคงนึกไม่ถึงว่าเรื่อง ‘ชุดพยาบาล’ จะเป็นหนึ่งในชนวนที่เร่งให้พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐออกจากระบบ จนเกิดสถานการณ์ขาดแคลนพยาบาลที่รุนแรงขึ้น 

เพราะหากติดตามฟังการชี้แจงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ จึงน่าสนใจว่ายังมีปัญหาใดอีกบ้างที่อยู่ในใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งคอยกดทับ บั่นเซาะคนทำงานอยู่ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น นอกเสียจากหลอกตัวเองว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่จริง…