ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ไฟเขียวทำระเบียบเครื่องแต่งกายใหม่สำหรับพยาบาลให้สอดคล้องกับบริบทหน้าที่ คาดได้ใช้ในปีงบประมาณ 2568 ชี้ ไม่ได้เป็นการยกเลิกเครื่องแบบ แต่เพิ่มตัวเลือกให้คนทำงาน แนะ สภาการพยาบาลเพิ่มระเบียบให้เป็นตัวเลือกสำหรับการตัดสินใจผู้บริหาแต่ละโรงพยาบาล


นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าพยาบาลงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (หน่วย EMS) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จากที่เมื่อช่วงกลางปี 2566 ได้นำเสนอร่างระเบียบเครื่องแบบพยาบาลใหม่ ให้สามารถส่วมใส่เครื่องแบบนอกเหนือจากเครื่องแบบเดิมที่เป็นชุดสีขาวได้ ต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเป็นประกาศโรงพยาบาล ขณะนี้ฝ่ายบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้มีการเห็นชอบการทำระเบียบแล้ว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน เช่น พยาบาลที่จำเป็นต้องทำหัตถการ เป็นอาทิ สามารถทำงานได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี ซึ่งคาดว่าระเบียบใหม่นี้จะเริ่มใช้ได้ในปีงบประมาณ 2568 

นายวิทยา กล่าวว่า การแก้ไขระเบียบเครื่องแบบให้สอดคล้องกับบริบทหน้าที่ของพยาบาลนั้นเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ปฏิบัติงานให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ไม่ได้มีเจตนาจะยกเลิกระเบียบเครื่องเดิม แต่จะให้เป็นมติของแผนกนั้นๆ ว่าเห็นสมควรจะเปลี่ยนหรือไม่  

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า โดยสำหรับเครื่องแบบที่ได้มีการเพิ่มให้เป็นทางเลือกนั้นจะมีสีเข้มเพื่อไม่ให้ง่ายต่อการเกิดรอยเปื้อน สามารถเปลี่ยนได้ง่าย รวมไปถึงสามารถสวมรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้นเพื่อสุขภาพได้ แต่ทรงผมยังมีความจำเป็นต้องเก็บให้เรียบร้อยเพื่อความสะอาดเช่นเคย 

1

เราไม่ได้บอกให้ยกเลิกการใส่ชุดขาวไปเลย แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกที่จะสามารถเลือกใช้ได้ ถ้าเห็นว่าบริบทของหน่วยงานมีความเหมาะสม เช่น พยาบาลที่ไม่ได้มีการทำหัตถการ แค่รับเรียกคิวก็อาจจะไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้” นายวิทยา ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลอื่นๆ ต้องการจะปรับระเบียบเครื่องแบบในลักษณะนี้จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้บริหารโรงพยาบาลเป็นหลัก เพราะสภาการพยาบาลเองก็มีระเบียบเครื่องแบบที่เป็นภาพใหญ่เอาไว้ หากโรงพยาบาลใดไม่ได้มีระเบียบก็ให้ใช้ระเบียบที่สภาพการพยาบาลกำหนด

ดังนั้น สภาการพยาบาลอาจต้องเพิ่มระเบียบเครื่องแบบตามบริบทที่เหมาะสมขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ สำหรับใช้เป็นอีกตัวเลือก ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลให้โรงพยาบาลบางแห่งเปิดกว้างเรื่องเครื่องแต่งกายมากขึ้น เพราะหากมีระเบียบที่ออกโดยสภาการพยาบาลก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปอ้างอิงกับผู้บริหารได้ ทำให้ตัวเลือกนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น

นอกจากนี้ คิดว่าการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของพยาบาลบางแผนกอาจจะไม่ได้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของประชาชน เพราะก็ยังต้องมีการระบุตัวตน เช่น ชื่อ ตำแหน่งงาน ทำให้เมื่อประชาชนมาใช้บริการก็จะสามารถรู้ได้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจริง 

“คิดว่าความน่าเชื่อถือไม่ได้เป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ได้มีการเปลี่ยนแล้ว และคิดว่าคนไข้ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะแต่งชุดอะไร แต่คนไข้คาดหวังเรื่องบริการมากกว่า” นายวิทยา ระบุ 

นายวิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ที่ปฏิบัติงานมีสิทธิเลือกเครื่องแต่งกายในการทำหน้าที่เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการทำงาน รวมถึงอยากให้มีการรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานในแผนกว่าอยากเปลี่ยนหรือไม่ อย่างน้อยก็ให้มีโอกาสได้เลือกเพื่อให้คนทำงานรู้สึกมีความสุข หรือมั่นใจระหว่างปฏิบัติหน้าที่