ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ความรุนแรงในวงการแพทย์นั้นสามารถไล่ได้ตั้งแต่การดุด่า การใช้ความรุนแรงในทางตรง เคยได้ยินว่ามีการหยิก มีการเอาแฟ้มเหล็กฟาด ทางอ้อมก็จะเป็นการโยนของ โยนมีดผ่าตัดใส่แพทย์คนอื่น
แล้วก็การไม่สอน ไม่อบรม ไม่บอกอะไร ปล่อยนักศึกษาแพทย์ทิ้งไว้ หรืออาจารย์แพทย์ไม่รับให้คำปรึกษา (consult) และเรื่องของการเอาเวลาราชการที่ควรทำงานไปอยู่คลินิกตัวเอง”

“แน่นอนว่ามันไม่ถูกต้อง ทั้งเรื่องการบังคับให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์จบใหม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การไม่ส่งรายชื่อให้สอบ เรื่องการที่มีแพทย์จบใหม่ร้องเรียนแล้วถูกนำเข้าห้องดำเพื่อดุด่า และการตัดคะแนนความประพฤติอย่างไม่เป็นธรรม”

แพทย์เรียนจบยาก...ทุกคนรู้

แพทย์เรียนหนักมาก...ทุกคนรู้

แพทย์ทำงานหนักยิ่งกว่า...ทุกคนก็รู้

แต่แพทย์ต้องเผชิญกับสังคมการทำงานแบบไหนบ้าง...ทุกคนรู้กันไหมนะ ?

“ตั้งแต่ก้าวแรกที่เลือกเรียน จนถึงวันสุดท้ายที่ได้เป็นแพทย์เต็มตัว สงครามทางจิตใจเริ่มต้นขึ้นและไม่มีจุดสิ้นสุด” คือนิยามของ “แพทย์” จากโรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่บอกกับ “The Coverage”  

คำอธิบายสั้นกระชับที่เผยให้เห็นความรุนแรงในสังคมการทำงานข้างต้น เป็นเพียงจุดเล็กๆ ของความดำมืดที่ซ้อนอยู่ภายใต้วงการแพทย์

กาวน์สีขาวบริสุทธิ์ที่รอให้คนภายนอกรับรู้และช่วยกันส่งเสียง-ส่องแสงมายังปัญหาเหล่านี้
เพื่อรักษาเหล่าแพทย์รุ่นใหม่ไว้ในระบบต่อไป

ธรรมาภิบาลหน้าฉาก หลังฉากอำนาจนิยม

‘ธรรมาภิบาล’ หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Good governance หมายถึง การบริหารหรือจัดการที่ดี เป็นธรรม รวมถึงการมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก

เหล่านี้ดูแตกต่างจากข้อเท็จจริงไม่น้อย เพราะ “แพทย์” คนดังกล่าวสะท้อนออกมาว่าวงการแพทย์มีสิ่งที่เรียกว่า ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้อง หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่า “ระบบอาวุโส” หรือ SOTUS นั้นฝังรากลึกอยู่ในระบบมาอย่างยาวนาน จนขุดขึ้นไม่ได้

แน่นอนทุกอย่างย่อมมีข้อดี-ข้อเสีย หากจะให้กล่าวถึงข้อดีสักเล็กน้อย ระบบอาวุโสเป็นระบบที่เมื่อทำงานจะทำให้รู้สึกเหมือนมีรุ่นพี่หรืออาจารย์ที่คอยดูแลคอยเอาใจใส่ คอยให้คำปรึกษา ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะว่า เนื่องจากตอนที่ยังเป็นแพทย์หรือพยาบาลจบใหม่ที่ความรู้ความสามารถความชำนาญยังไม่มากพอ ก็จะเจอผู้ป่วยหลายๆ เคสที่เกินความสามารถจะมีรุ่นพี่มาช่วยเหลือ โดยที่หลายๆ ครั้งอาจจะไม่ใช่หน้าที่เขา  

อาจด้วยเหตุผลและภาพของรุ่นพี่คอยช่วยเหลือรุ่นน้องนี้เอง ที่ทำให้คนทั่วไปมีภาพจำว่าสังคมการทำงานของแพทย์ถูกห่มคลุมด้วยความอบอุ่น รุ่นน้องมีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เสมอ แต่หากมองให้ทะลุสิ่งที่ฉาบอยู่ด้านหน้าจะเห็นถึง ‘ความเป็นอำนาจนิยมค่อนข้างสูง’ 

เชื่อหรือไม่ว่าลำดับความซับซ้อนทางอำนาจของบุคลากรในโรงพยาบาลมีหลายระดับจนคล้ายกับ ‘ระบบ TOP-DOWN’ โดยมีนักศึกษาแพทย์อยู่ล่างสุด จากนั้นก็จะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย (Extern) แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) แพทย์ประจำบ้านที่กำลังเรียนต่อเฉพาะทาง (Resident) ลำดับขึ้นไปก็จะเป็นแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ (Fellow) ที่เป็นแพทย์จบเฉพาะทาง หรือเรียนต่อเฉพาะทางอนุสาขาที่สนใจ และตามด้วยอาจารย์หมอหรือที่เรียกกันติดปากว่า สตาฟ (Staff)

ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้น วงการพยาบาลเองก็มีสิ่งที่เรียกว่าระบบอาวุโสเข้มข้นสูงมากไม่ต่างกัน ความคิดนี้ทำให้พยาบาลรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าบางคนจะไม่สามารถที่จะยอมรับความคิดเห็นของพยาบาลรุ่นน้องได้ ถ้อยคำของพยาบาลที่อาวุโสกว่าถือเป็นคำขาด

แพทย์รายนี้ย้อนถึงประสบการณ์ฝังใจว่าเคยโดนอาจารย์ดุด่าด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งที่มีหลักฐานอยู่ในมือว่าสิ่งที่อาจารย์พูดนั้นผิดแต่เขากลับไม่ยอมรับ ซึ่งแน่นอนการใช้ประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรจะดูหลักฐานและการวิจัยทางวิชาการประกอบด้วย ไม่ใช่ว่าจะละทิ้งเหตุผล ละทิ้งตัวเลข หรือวิจัยไปเลย เพราะสุดท้ายคนที่ ได้รับผลเสียก็คือผู้ป่วย ไม่ใช่อาจารย์แพทย์หรือตัวแพทย์เอง

การทำงานในระบบอาวุโสนี้ส่งผลทำให้คนที่อยู่ต่ำกว่าจะพูดอะไรกับคนที่อยู่สูงกว่าไม่ค่อยได้ และไม่มีวิธีตอบโต้ 

3

หลักๆ ที่พบได้มากก็คือเรื่องที่ผู้ที่ตำแหน่งสูงกว่าดุด่าว่ากล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมื่อตอบคำถามผิด หรือว่าเมื่อให้การรักษาผู้ป่วยไม่เหมาะสมก็จะมีการดุด่าตามมาไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” “ทำไมแค่นี้น้องไม่รู้” “คุณโง่เหมือนควายเลยไปกินหญ้าไหม” หรือ “แค่นี้ทำไมทำไม่ได้” 

การดุด่าในลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้นักศึกษา แพทย์ และพยาบาลหมดกำลังใจ แน่นอนว่าช่วงแรกอาจจะทนได้เพื่อการรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น แต่ว่าหากโดนดุด่าเช่นนี้ไปเรื่อยๆ กำลังใจก็จะค่อยๆ หมดลงไปในทุกวัน

เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องนิสัยส่วนบุคคล เพราะอาจารย์ที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาดีและไม่ได้ใช้คำด่า แต่ว่าปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นในอาจารย์รุ่นก่อนๆ 

คงจะเรียกได้ว่าในเจเนอเรชันก่อนหน้านี้อาจจะใช้คำว่า No Pain No Gain
หรือ “ถ้าไม่ด่า ไม่เจ็บ ก็จะไม่จำ”

ความรุนแรงหลังฉาก และจรรยาบรรณที่ว่างเปล่า

ในโรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์ อาจารย์มักใช้ความรุนแรง ตั้งแต่ผ่านคำพูดการสื่อสาร ไปจนถึง การขว้างปาสิ่งของ ปามีดในห้องผ่าตัดใส่แพทย์คนอื่น ใส่บางคนปาแฟ้มประวัติผู้ป่วย (ชาร์จ) ใส่ หรือไม่ก็เขวี้ยงชาร์จลงพื้นต่อหน้าต่อตาผู้ป่วยเห็นได้จากก่อนหน้านี้มีข่าวว่า อาจารย์แพทย์ได้ใช้ชาร์จตบหัวเด็ก แล้วเรื่องก็หายเข้าระบบไป แต่แน่นอนว่าไม่ใช่อาจารย์ทุกคนที่จะเป็นเช่นนั้น 

นอกจากความรุนแรงทั้งสองส่วนดังกล่าวแล้ว ยังมีการก่อให้เกิดความรุนแรงทางจิตใจอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ทำให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์จบใหม่รู้สึกราวกับกำลังทำสงครามในศึกที่ไม่มีวันชนะ  เพราะหากบังเอิญทำอะไรให้อาจารย์ไม่พอใจ หรือไม่ชอบขี้หน้าขึ้นมา อาจารย์ก็จะใช้วิธี ‘ไม่รับให้คำปรึกษา’ ซึ่งเท่ากับว่า แพทย์จะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยคนนั้นได้ จึงเหมือนการยกเอาตัวผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน เพื่อบังคับให้แพทย์ที่มีตำแหน่งต่ำกว่ายอมทำทุกอย่างที่อาจารย์แพทย์ต้องการ 

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาแพทย์และแพทย์จบใหม่มักจะประสบคือการถูก ‘บังคับ’ ให้ทำในสิ่งที่ผิดต่อหลักจรรยาบรรณแพทย์ 

แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐชื่อดังรายนี้ยังได้เล่าเรื่องที่น่าตกใจให้ฟังว่า เคยมีเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ต้องทำการแทงเส้นเลือด เพื่อใส่ท่อ Double - Lumen เข้าไป แต่เมื่อมีแพทย์ที่ทำพลาดไม่สามารถใส่ท่อได้ อาจารย์แพทย์กลับสั่งให้ทำการรียูสท่อ Double - Lumen โดยการสอดท่อที่ใช้แล้วให้ผู้ป่วยอีกราย ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้ประหยัด ทั้งที่จริงๆ แล้วห้ามทำเช่นนั้นเด็ดขาด 

เพราะโดยปกติ Double - lumen จะต้องใช้แล้วทิ้ง แม้จะนำไปฆ่าเชื้อใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ตามที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่า Do not resterilize หรือ ห้ามนำไปฆ่าเชื้อ แต่เคสนี้ อาจารย์กลับให้เอาสายที่ใช้แล้วไปอบไอน้ำฆ่าเชื้อมาใช้ใหม่

การที่ให้คนหน้างานนำของที่ไม่ควรใช้ซ้ำกลับไปใช้ใหม่ “แพทย์ที่อยู่หน้างานคนนั้นจะรู้สึกอย่างไรล่ะ?” เขาชวนตั้งคำถาม

อีกทั้งยังเคยมีกรณีที่อาจารย์แพทย์ต้องอยู่เวรมีชื่อลงไว้เรียบร้อย แต่ตัวไม่อยู่ในโรงพยาบาล แล้วมีเคสกระดูกที่ต้องใช้ความชำนาญ เพื่อให้กระดูกเข้าข้อ สิ่งที่อาจารย์ตอบกลับมาหลังจากนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 โทรหาคือ “น้องเปิด YouTube ทำเลย” โดยที่อาจารย์ไม่อยู่คุม ทั้งที่ทุกคนเป็นเพียงนักศึกษาแพทย์ ที่ยังไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ สุดท้ายจบลงที่รยางค์ขาดเลือดและโดนตัดอวัยวะ ทำให้ชวนคิดว่าบางทีก็คิดว่า ถ้าอาจารย์มาอยู่กับเรา และเป็นคนสอนต่อกระดูกเอง ผู้ป่วยก็อาจไม่ต้องถูกตัดแขน

วัฒนธรรม ‘ห้องดำ’ พื้นที่ร้องเรียนที่ห้ามร้องเรียน

ปัจจุบันการร้องเรียนปัญหาในการทำงานครอบคลุมเพียงแพทย์อินเทิร์นที่โรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด ในปีแรกจะมีทางแพทยสภาคอยดูแลอยู่ซึ่งจะสามารถส่งฟีดแบคหลังจากจบปีแรกได้ แต่เนื่องจากการร้องเรียนไม่สามารถปกปิดตัวคนที่ร้องเรียนได้ จึงทำให้ไม่ค่อยมีการรายงานเข้าไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะกลัวว่าสุดท้ายผู้ที่ถูกร้องเรียนจะไม่รับให้คำปรึกษา ซึ่งเหมือนเป็นการหาเรื่องใส่ตัวโดยเปล่าประโยชน์ และไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่ร้องเรียนไปจะถูกดำเนินการหรือไม่ 

นอกจากนั้น ผู้ร้องเรียนอาจจะถูกเรียกเข้าไปใน ‘ห้องดำ’ ทำให้การร้องเรียนแต่ละครั้งมีความเสี่ยงสูง เพราะใบเรียนจบที่จะระบุว่าคุณทำงานสมบูรณ์ครบถ้วนในฐานะแพทย์ปีแรกหรือไม่ ผู้ที่จะมีสิทธิให้มอบให้คืออาจารย์แพทย์

แต่ถ้าอาจารย์ไม่อยากให้ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น สมมุติอาจารย์แพทย์ไม่อยากเขียนใบแนะนำให้ไปเรียนต่อ แพทย์จะทำอย่างไร เห็นได้ว่าน่ากลัวมากที่จะใช้ระบบร้องเรียน

ระบบการร้องเรียนของพยาบาลเองก็เป็นระบบที่ปัจจุบันการจะส่งความคิดเห็นหรือคำร้องเรียนต่างๆ ผ่านพยาบาลผู้เป็นหัวหน้า ดังนั้น หากหัวหน้าไม่เห็นด้วย คำร้องเรียนและความคิดเห็นเหล่านั้นก็จะถูกปัดตกไปโดยอัตโนมัติ และถึงมีกระดานข่าวของส่วนกลาง แต่ก็ยังถูกห้ามว่า ไม่ควรพิมพ์ลงกระดานข่าวแบบนั้นเพราะจะทำให้คนอื่นมองไม่ดี 

ดังนั้น จึงเกิดความรู้สึกที่ว่า ทุกอย่างไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือความอยุติธรรมในระบบ ทำให้บรรดาบุคลากรไม่อยากอยู่ในระบบอีกต่อไป เพราะการที่ต้องเจอกับระบบไม่เป็นธรรมแล้วยังไม่มีวิธีการต่อกรอีก

อย่างไรก็ตาม แม้จะร้องเรียนไป สุดท้ายโรงพยาบาลก็ต้องเลือกแพทย์ประจำโรงพยาบาลก่อน
อินเทิร์นเสมอ เพราะการเสียแพทย์ที่เป็นแพทย์เฉพาะทางไป 1 คน แย่กว่าการเสียแพทย์อินเทิร์นที่ปีหน้าก็มีอินเทิร์นอื่นมาแทน แต่แพทย์เฉพาะทางจะอยู่กับโรงพยาบาลไปอีกนาน 

ปัญหานี้ยังคงวกวนไปเรื่องการขาดแคลนแพทย์ เนื่องจากหากประเทศไทยมีแพทย์ในระบบเพียงพอก็จะสามารถลงโทษแพทย์ที่ทำผิดเหล่านั้นได้ แต่ปัจจุบันหากตัดสินลงโทษแพทย์เฉพาะทางให้ลาออกไปแล้วใครจะมารักษาผู้ป่วย ซึ่งทำให้เกิดประเด็นที่น่าขบคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้สามารถลงโทษแพทย์เฉพาะทางที่ทำตัวไม่ดีอย่างไรให้ผู้ที่ทำผิดเหล่านั้น สามารถดำรงอยู่ในระบบได้ เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ทำที่รักษาเคสที่ซับซ้อนได้ 

4

วิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

เมื่อปี 2565 ทางแพทยสภาได้มีการประกาศข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อบังคับให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน โดยในส่วนที่เป็นการกำกับการปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงาน ได้กำหนดไว้ว่า ต้องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน รวมถึงต้องไม่มีการให้ร้าย ทับถม กลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ฯลฯ ต่อกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นสามารถร้องเรียนมาที่แพทยสภาได้ เพราะถือว่ามีความผิด

สวนทางกับความคิดเห็นของ “แพทย์” จากโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่บอกว่า สิ่งนี้เป็นเพียงการออกมายอมรับว่า มีปัญหาจริงๆ และพยายามจะพัฒนาแต่ก็ไม่เห็นว่าจะพัฒนา รวมถึงไม่เห็นแนวทางว่าจะพัฒนาอย่างไร ทั้งที่ปัญหานี้มันมีมานานหลายสิบปี ซึ่งเป็นที่น่าคิดว่า หากสธ.ต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จริงๆ ก็คงทำไปนานแล้ว จะมีการออกมาบอกว่าจะพัฒนาอะไรกันตอนนี้

เรื่องเหล่านี้เองยังคงเป็นเพียงฉากยิบย่อย เพราะเรื่องหลักยังมีความดำมืดอีกมากที่รอเวลาให้เราค้นหาและปรับปรุงมันไปพร้อมกัน

ทางออกของปัญหา

เรื่องของการแก้ไขปัญหาทั้งจากแพทย์คนดังกล่าว และ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน ที่เคยเสนอผ่าน “The Coverage” ก็ต่างเห็นพ้องกันว่า ระบบการร้องเรียนจะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 

นั่นหมายความว่า ควรจัดตั้งองค์กรที่สามารถตรวจสอบเรื่องของการทำงานได้อย่างอิสระ
การรายงานต้องไม่สามารถสืบกลับไปถึงตัวคนร้องเรียนได้ และการร้องเรียนควรจะสามารถติดตามผลว่า เรื่องที่ร้องเรียนดำเนินการถึงไหน แล้วมีกำหนดการที่จะเสร็จเมื่อไหร่ ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำในเวลาเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยข้ามปีแล้วค่อยแล้วเสร็จ

ฟากฝั่งของผู้ที่รับเรื่องร้องเรียนต้องทำตัวเป็นผู้ที่ดำเนินเรื่องแทนผู้ร้องเรียนด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงตัวประสานงาน เพราะปัจจุบันบางเรื่องอย่างเช่น เรื่องเงินตกเบิก หรือว่าเงินได้ไม่ครบ หากเกิดการไปร้องเรียนกลายเป็นว่า อีกฝ่ายแค่ประสานงานให้ ส่วนผู้ร้องเรียนจะต้องไปตามเรื่องเอง ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น 

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า องค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนควรมีบริการปรึกษากฎหมายที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ร้องเรียนโดยตรง เพราะหลายครั้งที่แพทย์ไม่รู้กฎหมายเลย เพราะกฎหมายมีซับซ้อนมาก
จึงเป็นเรื่องยากที่แพทย์ที่ทำงานหนักอยู่แล้วจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติมให้ละเอียด

ทั้งนี้ เคยมีกรณีแพทย์อยู่ 20 กว่าเวรแล้วส่งเบิกค่าเวร ปรากฏว่าที่เกิน 15 เวรไปแล้วเขาไม่เบิกจ่ายให้ ทำให้การอยู่เวรเกินกว่า 5 เวรสูญเปล่า ซึ่งในจุดที่ทำงาน เขาไม่รู้ว่ากฎหมายเป็นยังไง ไม่รู้ว่าใช้หลักการอะไร สุดท้ายทำได้เพียงปล่อยผ่านไป เพราะแค่การรักษาผู้ป่วยก็เหนื่อยอยู่แล้ว ไม่มีเวลาไปสู้ ฉะนั้น บริการทางกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรื่องการร้องเรียนดำเนินต่อไปได้

ด้าน นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่สามารถบริหารจัดการโรงพยาลจนพลิกฟื้นสถานการณ์ขาดสภาพคล่องรุนแรงระดับ 7 ให้กลายเป็น ‘Digital Hospital’ ด้วยเวลาเพียง 18 เดือน เสนอทางออกเรื่องนี้ว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ต้องมีความเอาใจใส่และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี อาจจะต้องมีช่องทางให้เขาสื่อสารกับผู้บริหารได้โดยตรง ว่ามีปัญหาในการทำงานหรือมีปัญหากับสตาฟคนอื่นๆ อย่างไร

“แน่นอนว่าหากมีปัญหาก็ควรแก้ไข แต่ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งองค์กรเพื่อตรวจสอบ เพราะจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนระเบียบที่ยุ่งยาก ปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากมาย เช่น บางโรงพยาบาลมีสตาฟที่มีปัญหาเพียง 1-2 คน ก็ไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าขอบเขตอำนาจผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการได้ หากมีความใส่ใจที่มากพอ” นพ.ประวัติ กล่าว