ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดือนนี้มีวันครบรอบวันเกิดคุณพยาบาลฟลอเรนซ์ ไนติงเกล และ ระลึกเป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) คือ  วันที่ 12 พ.ค. เพื่อยกย่องและเป็นเกียรติต่อพยาบาลทั่วโลก โดยมีคำขวัญปีนี้ คือ “Nurses: A Voice to Lead - Invest in Nursing and respect rights to secure global health”

ผู้เขียนจึงขอนำเรียนท่านผู้อ่านเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง “การจัดเครือข่ายบริการสุขภาพเชิงพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากร” ซึ่งรายงานผลการคำนวณการจัดเครือข่ายบริการสุขภาพของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จำนวน 10,526 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ และ พิจารณาเฉพาะวิชาชีพพยาบาล แพทย์ เภสัชกร และ ทันตแพทย์

ผลการศึกษาพบว่า สาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ พยาบาล ทันตแพทย์และแพทย์ ซึ่งมีค่า “ดัชนีความเข้มข้นของความขาดแคลน” คำนวณพิจารณาแยกคำนวณตามสาขาวิชาชีพจาก ส่วนต่างระหว่างจำนวนคนและ กรอบอัตรากำลังคนขั้นต่ำ (0.8*FTE) เป็นสัดส่วนต่อกรอบอัตรากำลังคนขั้นต่ำ ซึ่งในระดับโรงพยาบาลทั่วประเทศ คือ พยาบาล ทันตแพทย์และแพทย์ ขาดแคลนเฉลี่ยร้อยละ 31, 29, และ 26 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับกรอบอัตรากำลังขั้นต่ำแล้ว ขาดแคลนพยาบาลรวมทั้งสิ้นประมาณ 16,000 คน และ ขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ และ เภสัชกร ประมาณ 3,400 คน 1,000 คน และ 250 คน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรสุขภาพ ประกอบด้วย พยาบาล 1.16 แสนคน และ จำนวนแพทย์ 2 หมื่นคน ทันตแพทย์ 5.7 พันคน และ เภสัชกร 8.15 พันคน

ทั้งนี้ พยาบาลจะมีความขาดแคลนรุนแรงในระดับปฐมภูมิและตติยภูมิ แต่ไม่ขาดแคลนในระดับทุติยภูมิ ส่วนแพทย์มีปัญหาขาดแคลนรุนแรงในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ

การจัดเครือข่ายของโรงพยาบาลในระดับบริการเดียวกันจะไม่สามารถลดปัญหาความขาดแคลนได้ เนื่องจากมีความขาดแคลนบุคลากรสูง จึงไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้บรรเทาความขาดแคลนได้ แต่ถ้าสามารถบริหารจัดการเครือข่าย โดยรวมกำลังคนที่อยู่ในระดับบริการใกล้เคียงกัน เช่น รวมระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิระดับต้น และทุติยภูมิระดับกลาง ภายในพื้นที่อำเภอเดียวกัน จะสามารถลดปัญหาความขาดแคลนพยาบาลได้

อีกงานวิจัย คือ “Improving Allocative Efficiency from Network Consolidation: A Solution for the Health Workforce Shortage” ได้ใช้ข้อมูลจำนวนบุคลากรชุดเดียวกัน ร่วมกับข้อมูลระดับโรงพยาบาลของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (Outpatient) จำนวนรวม 284 ล้านครั้ง และผู้ป่วยใน (Inpatient) จำนวนรวม 18 ล้านครั้ง ภายในในปีงบประมาณเดียวกัน ซึ่งใช้เทคนิคทางเศรษฐมิติในการคำนวณน้ำหนักสัมพัทธ์ของบริการแต่ละครั้งและน้ำหนักสัมพัทธ์ของจำนวนบุคลากรแต่ละวิชาชีพที่สะท้อนต้นทุนสัมพัทธ์ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อวัดเป็นภาระงานต่อหัวที่ประเมินสัดส่วนของปริมาณผลผลิตต่อกำลังคน

ข้อสรุปหลักของการจัดเครือข่ายภายในพื้นที่แบบด้วยวิธีที่ซับซ้อนขึ้นมากอีกหน่อย ก็แสดงให้เห็นผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกันกับการคำนวณแบบง่ายเปรียบเทียบกำลังคนและกรอบอัตรากำลังคนขั้นต่ำ นั่นคือ การจัดเครือข่ายร่วมกันระหว่างระดับบริการที่ใกล้เคียง จะลดปัญหาความขาดแคลนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณสุขตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

การจัดเครือข่ายกำลังคน ยังน่าจะมีประโยชน์ต่องการจัดสรรงบประมาณของโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. ในรูปแบบของเครือข่าย หากมีการจัดให้มีการบูรณาการเชิงระบบ เพราะผลการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย และส่วนต่างสุทธิ รายสถานพยาบาล คือ ระดับ รพ.สต. และ ระดับ รพศ. รพท. และ รพช. ปีงบประมาณ 2561 และ 2562 แสดงให้เห็นว่า ระดับ รพ.สต. มีการขาดทุน คือ ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ โดยเฉลี่ยเกือบทุกจังหวัดและเขตสุขภาพ ในขณะที่เมื่อพิจารณาระดับ รพศ. รพท. และ รพช. พบว่า มีเงินเหลือ คือ มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย

ดังนั้น เมื่อรวมทุกระดับโรงพยาบาลภายในพื้นที่เข้าด้วยกัน จะพบว่า ทุกเขตสุขภาพไม่ขาดทุน จึงน่าจะสรุปได้ว่า หากสามารถจัดสรรงบประมาณให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยบริหารจัดการงบประมาณแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่ เช่น ในระดับเขตสุขภาพ ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนงบประมาณของสถานบริการภายในแต่ละพื้นที่ได้ และ เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั้ง 2 ชิ้นของผู้เขียน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาประสิทธิภาพทางการคลังที่ยั่งยืนสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพ และแบบจำลองการจัดสรรทรัพยากรกำลังคนด้านสุขภาพ” ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ไปใช้เวลาส่วนหนึ่งทำวิจัยที่โครงการ Takemi Program in International Health ที่ Harvard T. H. Chan School of Public Health (HSPH) และ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ประเด็นสำคัญหนึ่งในข้อสรุปการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy analysis) ของโครงการวิจัยนี้ คือ รณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีเกียรติยศและได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในสังคมไทย ควรที่จะเรียกร้องต่อสังคมและภาครัฐให้มีการจัดสรรทรัพยากรมาให้กับระบบสาธารณสุขมากขึ้น โดยตระหนักถึงบริบทของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาส และการขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรงบทรัพยากรงบประมาณของประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้รัฐเพิ่มมากขึ้น ผ่านการปฏิรูปการคลังที่ใช้กลไกภาษีเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบสาธารณสุข ตลอดจนการจัดสรรลำดับความสำคัญของงบประมาณ (budget reprioritization) เช่น ลดละเลิกการใช้งบผูกพันในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรือใช้งบประมาณในทางที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ในระยะยาว สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในปัจจุบันที่กำลังขาดแคลน และมีแนวโน้มความต้องการที่จะสูงขึ้นในอนาคต

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Research Fellow, Takemi Program in International Health, Harvard T.H. Chan School of Public Health

บรรณานุกรม

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย (2563) “การจัดเครือข่ายบริการสุขภาพเชิงพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากร”, วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. 14(3): 243-73.

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย (2564) “การพัฒนาประสิทธิภาพทางการคลังที่ยั่งยืนสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพ และแบบจำลองการจัดสรรทรัพยากรกำลังคนด้านสุขภาพ”, รายงานฉบับสมบูรณ์. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข.

Jithitikulchai T (2022) “Improving Allocative Efficiency from Network Consolidation: A Solution for the Health Workforce Shortage”, Human Resources for Health, forthcoming