ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีความเป็นไปได้สูงที่ ผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยจำนวนมาก จะเข้าไม่ถึงบริการการรักษา

ไม่ใช่เพราะไม่มีสิทธิ แต่เป็นเพราะ “ไม่มีหมอ”

สถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ จิตแพทย์ กำลังเปราะบาง แนวโน้มความต้องการ (เคส) เพิ่มสูงขึ้นสวนทางจำนวนบุคลากรที่ให้บริการ

โรคจิตเวช หรือ กลุ่มอาการทางจิตใจที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด อารมณ์ ตลอดจนพฤติกรรมของคนเรา ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน โดยมีต้นเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน ความเจ็บปวดที่ได้รับในวัยเด็ก

ความป่วยไข้ทางจิตใจไม่มีร่องรอยให้เห็นได้ชัดเหมือนความเจ็บป่วยทางกาย รวมถึงไม่สามารถปล่อยไว้ให้หายเองได้เหมือนเป็นไข้ ซึ่งถ้าสะสมเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีผู้ป่วยจิตเวชบางกลุ่มอาการอาจเลือกที่จะจบชีวิตลง เพราะคิดว่านั่นเป็นทางออก

สำหรับจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการมากถึง 2,519,255 คน

นอกจากนี้ ด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 ที่มีแนวทางให้ ‘ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย’ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษาทางจิตเวช ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.9 ล้านคน

1

นั่นทำให้ไทยอาจมีผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 4.4 ล้านคน และจะมากขึ้นอีกก็เป็นได้ เพราะในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วย เห็นได้จากตัวเลขในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน เป็น 2.3 ล้านคน ในระยะเวลา 6 ปี (2558-2564)

ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2564 รายงานว่า ไทยมีจิตแพทย์เพียง 845 คน ซึ่งเมื่อคิดเปรียบเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวชแล้ว เท่ากับว่าจิตแพทย์ 1 คนอาจต้องรักษาผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 5,207 คน เหล่านี้เองที่อาจทำให้ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากไม่ได้รับการรักษา

กระทั่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี จิตแพทย์มากที่สุด ในไทย โดยมีจิตแพทย์ทั้งหมด 271 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนจิตแพทย์ทั้งประเทศ และจากข้อมูลของ Rocket Media Lab ระบุว่า ในปี 2564 กทม. มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 157,200 คน จึงคิดเป็นสัดส่วน คือ จิตแพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วยจิตเวช 580 คน ถึงอย่างนั้นถ้าผู้ป่วยจิตเวชต้องการรักษาก็อาจต้องรอนานหลายเดือน

เพื่อฉายภาพสถานการณ์จริง “The Coverage” ได้สอบถามข้อมูลไปยังโรงพยาบาลจำนวน 5 แห่ง ที่ให้การรักษาด้านจิตเวชใน กทม. และปริมณฑล ถึง ‘การรอคิว’ ในการเข้ารับบริการ โดยได้รายละเอียดดังนี้

1. โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คลินิกในเวลา : ขณะนี้ปิดรับการนัดหมายชั่วคราว เนื่องจากมีคิวนัดหมายไปถึงเดือน ธ.ค. 2566
- คลินิกนอกเวลา : ยังเปิดรับการนัดหมายอยู่ โดยมีคิวไปถึงเดือน พ.ค. 2566

2. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
- คลินิกในเวลา : รับเฉพาะวอล์กอินเท่านั้น จำกัดอยู่ที่ 3 รายต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่หากจะรับบริการสามารถเข้ารับได้ที่คลินิกพิเศษเท่านั้น
- คลินิกพิเศษ : ไม่สามารถติดต่อได้

3. โรงพยาบาลศิริราช
- คลินิกในเวลา : ขณะนี้มีคิวไปถึงเดือน พ.ค. 2566
- คลินิกนอกเวลา : ไม่สามารถติดต่อได้

4. คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
- คลินิกในเวลา : ขณะนี้มีคิวนัดไปถึงเดือน ธ.ค. 2566
- คลินิกรุ่งอรุณ (นอกเวลา) จะเปิดให้บริการช่วง 06.00-08.00 น. มีคิวไปถึงเดือน เม.ย. 2566
- คลินิกพิเศษ เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์ มีคิวไปถึงเดือน เม.ย. 2566 เช่นกัน

5. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ถ้าจะรับบริการต้องวอล์กอินเพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองก่อนถึงจะสามารถนัดหมายคิวการรักษาได้
- คลินิกในเวลา / นอกเวลา มีคิวไปถึงเดือน ต.ค. 2567

2

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกก็คือ บางจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูง แต่มีจำนวนจิตแพทย์น้อย ตัวอย่างเช่น จ.เชียงใหม่ ที่ในปี 2564 มีผู้ป่วยจิตเวชมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยมีจำนวน 186,110 ราย และมีจิตแพทย์เพียง 56 คน และรองลงมาอย่าง จ.นครราชสีมา ที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวช 186,017 คน แต่มีจิตแพทย์เพียง 23 คน

จังหวัด

ผู้ป่วยจิตเวช

จิตแพทย์

กรุงเทพ

157,200

271 (มากสุดใน ปท.)

เชียงใหม่

186,110 (สูงสุดใน ปท.)

56

นครราชสีมา

186,017

23

แม้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ทางกรมสุขภาพจิต จะออกมาเปิดเผยว่า กำลังประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือในการผลิตจิตแพทย์เพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะร่วมผลิตจิตแพทย์ให้ได้จำนวน 400 คน ภายใน 5 ปี  พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ

แต่น่าสนใจว่าถ้าสามารถผลิตจิตแพทย์ได้ตามเป้าหมายแล้ว ในจำนวนนั้นจะเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในขณะนั้นด้วยหรือไม่ หรือระหว่างนี้ สธ. อาจต้องมีแนวทางในการแก้ไขอื่นๆ ที่มุ่งป้องกันในเชิงรุก มากกว่ารอรักษาในเชิงรับ