ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมการปกครอง ติดตาม ‘โครงการอบรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด’ จ.ขอนแก่น เน้นย้ำ ฝ่ายปกครองค้นหา ‘ผู้ป่วยจิตเภท’ มาเข้ารับการรักษา - ผู้เสพยามาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยใช้กลไกศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมภายในชุมชน พร้อมผนึกกำลังกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน มีระบบติดตาม 


เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ลงพื้นที่ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจติดตามโครงการอบรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานฟื้นฟู สมรรถภาพพลเมือง กรมการปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กำลังพลสังกัดกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดขอนแก่นที่ 1 ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดขอนแก่นที่ 1 ต.ศิลา อ.ขอนแก่น โดยมี นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ

นายศรัณย์ศักด์ กล่าวว่า มท. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้มอบ 10 นโยบายเน้นหนักให้กับ มท. หนึ่งในนั้นคือการมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นมาตรการเชิงรุก ทั้งการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนมีมาตรการเข้มข้นและจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายทุกประเภท

1

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มท. ได้มีการ Kick off ชุดเฉพาะกิจทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัด/อำเภอ และจัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยกรมการปกครอง นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการคัดกรองเข้ารับการอบรม โดยใช้หลักธรรมทางศาสนาในการหล่อหลอมจิตใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม การพัฒนาตนเอง รวมถึงการพัฒนาอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นายศรัณย์ศักด์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการอบรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพพลเมือง กรมการปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น ทางนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้มีแนวคิดเรื่องปฏิบัติการผ่านระบบ CI โดยใช้สถานที่ในชุมชน และให้นายอำเภอทุกอำเภอใช้กองร้อย อส.อำเภอ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช หรือ โรงยาบาลธัญญารักษ์ มาอยู่ที่กองร้อย อส. เพื่อฟื้นฟู ฝึกอาชีพ ปลูกผักสวนครัว เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ

นายศรัณย์ศักด์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดในพื้นที่ ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการปรับเปลี่ยนทัศนคติสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิต การฝึกอาชีพ และการประกอบอาชีพ ซึ่งหลังจากอบรมผู้เข้าอบรมจะได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฟื้นฟูทางด้านร่างกายและจิตใจ และฝึกอาชีพ ได้รับทั้งความรู้ความเข้าใจและจะกลับไปเป็นพลเมืองดี มีระเบียบ วินัย มีบุคลิกที่ดี จิตใจเข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี และกลับไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านชุมชน และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนของตนด้วย

1